มาตรการแบนถุงพลาสติก…โอกาสในการปรับตัวของผู้ผลิต

คอลัมน์ Smart SMEs
TMB SMEs Insights

TMB Analytics เผยมาตรการแบนถุงพลาสติก กระทบผู้ผลิตกว่า 400 ราย สูญรายได้ 2.6 พันล้านบาทในปี’63 ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs พร้อมแนะโอกาสปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตสอดคล้องกับเทรนด์ตลาด

ดีเดย์ 1 ม.ค. 63 ลด/เลิกใช้ถุงพลาสติก สานฝันสู่สังคมปลอดขยะ

จากโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐปี 2561-2573 ที่มุ่งเลิกใช้พลาสติกบางชนิดภายในปี 2565 ประกอบไปด้วย ถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบาง หลอดพลาสติก แก้วน้ำใช้ครั้งเดียว และกล่องโฟม ทำให้ตั้งแต่ปลายปี 2562 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำร่องการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก ล่าสุด 1 มกราคม 2563 ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ และร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ พร้อมใจงดให้ “ถุงพลาสติก” ซึ่งเป็นการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เพื่อนำไปสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (zero waste society)

คาดรายได้ผู้ผลิตถุงพลาสติกสูญกว่า 2.6 พันล้าน หรือ 6.5% ของมูลค่าตลาดถุงพลาสติก 4 หมื่นล้าน จากการศึกษาโครงสร้างรายได้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ในปี 2562

มีมูลค่าตลาด 1.7 แสนล้านบาท มาจากผู้ผลิตถุงพลาสติก 4 หมื่นล้านบาท หรือ 23% โดยมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติกคาดว่าทำให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในปี 2563 ลดลง 1.3 หมื่นล้านใบ กระทบต่อรายได้ผู้ผลิตลดลงประมาณ 2.6 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวจะกระทบต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดเพียงแค่ 1.5% เนื่องจากมุ่งเน้นการลดขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ในทางปฏิบัติผู้บริโภคยังมีความจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทอื่น ๆ อยู่อีก ดังนั้น ผลกระทบมาตรการลด/เลิกถุงพลาสติกจึงจำกัดอยู่แค่ผู้ผลิตถุงพลาสติก

ชี้ผู้ผลิตถุงพลาสติก SMEs 250 รายกระทบหนักสุด

ในช่วงแรก ผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้ผลิตถุงพลาสติกรายใหญ่ที่ส่งให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้นำร่องลดการแจกถุงพลาสติก และต่อเนื่องถึงผู้ผลิตระดับ SMEs ที่ขายให้กับร้านค้าปลีกรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งก็มีแนวโน้มรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกด้วย นอกจากนี้พบว่า ผู้ผลิตถุงพลาสติกส่วนใหญ่เป็น SMEs ถึง 79% มีรายได้คิดเป็นเพียง 13% ของตลาดถุงพลาสติกรวม ทั้งนี้ มีเพียง 20% ของผู้ผลิต SMEs ที่มีการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ อีก นอกเหนือจากถุงพลาสติก ทำให้ผู้ผลิตกลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับตัวไปผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทอื่นทดแทนได้ง่ายกว่า ขณะที่จำนวนผู้ผลิต SMEs ที่เหลือถึง 80% หรือกว่า 250 ราย เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด

ระยะสั้นแนะปรับสายการผลิตตอบโจทย์เทรนด์ตลาด…ถุงใส่ขยะมาแรง

จากมาตรการลดใช้ถุงพลาสติก แต่ในชีวิตประจำวันผู้บริโภคยังต้องใช้พลาสติกประเภทอื่นทั้งด้านอุปโภคและบริโภค จึงมองเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตถุงพลาสติกรายเล็กที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับเทรนด์ตลาด เช่น การรณรงค์ในการคัดแยกขยะ ทำให้มีความต้องการถุงใส่ขยะเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมผู้บริโภคบางส่วนจะนำถุงที่ได้จากร้านค้านำมาเป็นถุงขยะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จากงานวิจัยของ Rebecca Taylor พบว่า ผลจากการที่รัฐบาลงดการให้ถุงพลาสติกในบางเมืองของสหรัฐอเมริกาในปี 2560 ส่งผลให้ขยะพลาสติกลดลงถึง 1.8 หมื่นตัน แต่กลับซื้อถุงขยะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ดังนั้น หากผู้ผลิตถุงพลาสติกปรับสายการผลิตไปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ กิจการก็มีแนวโน้มที่จะสามารถไปต่อได้

มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ในระยะยาว

ต่อจากนี้ไป จึงเป็นความท้าทายที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก SMEs ยุคใหม่ ต้องหันมาสร้างนวัตกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้องตามกระแสการใช้ของสังคม การออกแบบดีไซน์ การใช้วัสดุพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงการรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองต่อมาตรการในการกำจัดขยะพลาสติก และต้องมีต้นทุนที่แข่งขันได้ในยุคที่ใคร ๆ ก็ทำกันได้