“โควิด” ขวิดตลาดหุ้นไทยโคม่า รัฐจัดยา “กองทุนพยุง-SSF พิเศษ”

ตลาดหุ้นไทยอาการโคม่ามากขึ้นทันที หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เป็น “การระบาดใหญ่ทั่วโลก” ส่งผลให้วันที่ 12 มี.ค. 2563 กลายเป็นอีก 1 วันที่นักลงทุนต้องจดจำ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องงัดมาตรการหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (เซอร์กิตเบรกเกอร์) มาใช้อีกครั้ง หลังจากเคยใช้ครั้งล่าสุดเมื่อราว 11 ปีก่อน

ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนี SET ร่วงระนาวทันทีที่เปิดตลาดเช้าวันที่ 12 มี.ค. จนหลุดระดับ 1,200 จุด ระหว่างวันดัชนีปรับตัวลดลงถึงระดับ 10% หรือ -125.05 จุด อันเป็นระดับที่ต้องใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ โดยมีการหยุดพักเทรดเป็นเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.38-15.08 น.

อย่างไรก็ดี หลังเปิดการซื้อขายต่อ ดัชนีก็ยังดิ่งต่อเนื่อง กระทั่งปิดตลาดลดลงไป 134.98 จุด หรือ -10.8% ดัชนีลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1,114.91 จุด “ต่ำสุด” ในรอบ 8 ปี

ส่วนวันถัดมา “ศุกร์ 13” 13 มี.ค. ตลท.ก็ต้องงัดเซอร์กิตเบรกเกอร์มาใช้ตั้งแต่เริ่มเปิดตลาด เนื่องจากดัชนีรูดลงไปต่ำกว่า 1,000 จุดอย่างรวดเร็ว

เมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ต้นปีมาจนถึง ณ 12 มี.ค. พบว่า ดัชนี SET ปรับลดลงไปแล้ว 329.95 จุด หรือลบไป -20.89% ถือว่าร่วงหนักสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่มีการปรับลดราว -16% เท่านั้น

หุ้นที่ร่วงเอา ๆ ดูจะหนักหนาสาหัสขึ้น จนลำพังมาตรการแปลงสภาพกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็น “SSF กองพิเศษ” ที่ให้หักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีก 2 แสนบาท จากเดิมที่ “SSF ปกติ” ลดหย่อนได้สูงสุด 2 แสนบาทอยู่แล้ว สำหรับการลงทุนในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2563 ที่เพิ่งผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไป ส่อแววว่าจะ “เอาไม่อยู่”

เพราะภาคเอกชนเองก็มองว่า ด้วยเงื่อนไขที่ไม่จูงใจเท่ากับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในอดีต อาจจะไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้เทียบเท่ากัน และคงไม่อาจช่วยพยุงหุ้นไทยได้มากนัก

นั่นจึงทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด โดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาร่วมกับ ตลท. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพตลาดทุนขึ้นมาดูแลตลาดหุ้นที่ตกอยู่ในภาวะ “ไม่ปกติ”

“เนื่องจากขณะนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ปกติและถือว่าเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปรวมทั้งตลาดหุ้นไทยตกมาก ทั้งที่ผ่านมาพื้นฐานตลาดหุ้นไทยดีมาก ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องดูแล และ 15 ปีที่ผ่านมาเคยมีกองทุนรวมวายุภักษ์ดูแล แต่ปัจจุบันนี้จะต้องใช้กลไกที่ซับซ้อนเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนขนาดของกองทุนจะต้องพิจารณาความเหมาะสม”

โดย “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ก็ระบุในทิศทางเดียวกันว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการพิจารณาจัดตั้ง “กองทุนไทยสร้างโอกาส” มาช่วยประคองภาวะตลาดหุ้น

ขณะที่ “สมบัติ นราวุฒิชัย” เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า แนวคิดการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น คาดว่าเงินทุนที่ใช้จัดตั้งจะมาจากการลงขันกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุน

“กองทุนพยุงหุ้นต้องจัดตั้งให้เร็ว เพราะเราก็เห็นว่าดัชนีหุ้นปรับลงหลุดแนวรับใหญ่ที่ 1,200 จุดไปแล้ว โดยหากลักษณะกองทุนที่ออกมามีเงื่อนไขและโครงสร้างเหมือนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก็เชื่อว่าจะช่วยพยุงตลาดหุ้นได้ดี” นายสมบัติกล่าว

นอกจากมาตรการที่เกี่ยวกับการ “พยุงหุ้น” ภาคตลาดทุนทั้ง ตลท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการตลาดทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย ตลท.มีการประกาศลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สำหรับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และคัสโตเดียน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 500 ล้านบาท เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ

ขณะที่ ก.ล.ต.ก็มีมาตรการ เช่น การปรับลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่บริษัทที่ส่งงบการเงินและรายงานประจำปีตรงเวลา และขยายเวลาการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญ เป็นต้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกประกาศให้ บจ.ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถผ่อนผันการนำส่งงบการเงินปี 2562 ได้ และสามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมถึงอนุญาตให้ บล.สามารถทำงานจากบ้านได้ในกรณีจำเป็นไปแล้ว

ท่ามกลางภาวะที่ความเสี่ยงจาก “โควิด-19” ยังมองไม่เห็นจุดจบเช่นนี้ มาตรการที่ภาครัฐพยายามออกมาจะช่วยได้แค่ไหนคงต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งเร็ว ๆนี้ ภาครัฐก็คงมีมาตรการดูแลเพิ่มเติมออกมาอีก