“ขุนคลัง” เผยสรรพากรเล็งเลิกยกเว้นภาษีดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 15%

ขุนคลังเผยสรรพากรเล็งเลิกยกเว้นภาษีดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 15% หลังอธิบดีเจอเองพนักงานแบงก์เสนอปิดบัญชีก่อนดอกเบี้ยแตะ 2 หมื่นบาท เพื่อประหยัดภาษี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัปดาห์ประกันภัย และพิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2560 (Prime Minister’s Insurance Awards) ว่าฝากให้ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่เป็นผู้กำกับธุรกิจประกันชีวิต ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลที่ดี (CG)

ขณะเดียวกันตนได้คุยกับนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ว่าในส่วนของธุรกิจธนาคาร ขณะนี้ยังมีปัญหาในระดับของผู้ปฏิบัติงานในธุรกิจธนาคารอยู่ ซึ่งคล้ายกับกรณีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ออกหนังสือชี้ชวนให้ซื้อกองทุน ซึ่งเวลาเขียนก็ระบุบริษัทที่มีเรตติ้งดีทั้งสิ้น แต่จะมีหมายเหตุไว้ด้านล่างว่า บลจ.สามารถจะไปลงทุนอะไรก็ได้ และพอลงทุนจริง ๆ ก็ไม่ได้ลงทุนใน 5-6 รายการที่บอกไว้ แต่ไปลงตราสารที่ไม่มีเรตติ้งหมด ผลที่ตามมา ทำให้มีการผิดนัดชำระหนี้ ผู้ลงทุนก็ขาดทุน

ขณะที่ธุรกิจธนาคารที่เพิ่งพบมา ก็คือมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ในเรื่องที่มีการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ให้แก่ดอกเบี้ยที่เกิดจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ไปหาประโยชน์ โดยแจ้งลูกค้าให้ฝากเงินจำนวนมาก แล้วเมื่อดอกเบี้ยใกล้ถึง 20,000 บาท ก็แนะนำให้ปิดบัญชีเก่า แล้วเปิดบัญชีใหม่

“เรื่องแบบนี้คุณรู้อยู่แล้วว่า เจตนารมณ์กฎหมายเป็นแบบนี้ แต่คุณยังหลีกเลี่ยง หลบเลี่ยง แล้วถ้าทำอย่างนี้ CG เป็นอย่างนี้ ยังควรจะทำงานในวงการการเงินหรือไม่ ซึ่งเป็นวงการที่เกี่ยวข้องกับคนเยอะแยะ ขณะที่กรมสรรพากรก็รู้เรื่องนี้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ของธนาคารไปบอกอธิบดีให้ปิดบัญชี แล้วเปิดบัญชีใหม่เพื่อประหยัดภาษี เขาเห็นรูรั่วก็เลยคิดขึ้นมา ว่าจะคิดภาษีหมดเลย ไม่ยกเว้นให้แล้ว แล้วใครจะขอยกเว้น 20,000 บาทก็ให้มาเคลมคืนตอนสิ้นปี แบบนี้ก็กระทบกับทุกคน ก็กลายเป็นปัญหาอีก ซึ่งปัญหามาจากผู้ประกอบการการเงินไม่มี CG ที่ดี” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหา อาศัยช่องเลี่ยงภาษีจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าว ก็คือ ต้องกำชับให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ดำเนินการลักษณะดังกล่าว ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า จะทำตามแค่ไหน ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็ต้องดูแลตรงนี้

“ใครกำกับแบงก์ก็ต้องกำชับ แต่เรื่องนี้ผู้ควบคุมผู้กำกับอาจจะยังไม่รู้ แต่บังเอิญกระทรวงการคลังรู้ขึ้นมาก่อน ซึ่งก็มีหลายแบงก์ แต่ยืนยันว่าแบงก์ใหญ่ไม่มีใครทำ” นายอภิศักดิ์กล่าว