แห่ปรับ “จีดีพี” ไทยปีนี้ “ติดลบ” ฟันธงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

จีดีพีไทย

ไวรัสเขย่าโลก “โควิด-19” ทุบเศรษฐกิจยับ ธนาคารกลางทั่วโลกแห่หั่นดอกเบี้ย-อัดฉีดเงินเข้าระบบประคองเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยแย่ตาม สำนักวิจัยแห่ปรับลด จีดีพี ปี’63 “ติดลบ” หนักสุด -0.8% กรุงศรีฯชี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ยรวดเดียว 0.50% จี้รัฐเร่งอัดมาตรการฟื้นเชื่อมั่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้างส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจหนักขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินถึง 2 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) อัดฉีดสภาพคล่องราว 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เรียกประชุมฉุกเฉินคงดอกเบี้ยติดลบ และมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้น โดยการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่ม 2 ล้านล้านเยน และเพิ่มการเข้าซื้อ ETF อีก 6 ล้านเยน ฟากธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดดอกเบี้ย 0.5% เหลือ 0.75% และธนาคารกลางฮ่องกงลดดอกเบี้ย 0.64% เหลือ 0.86%

กนง. ไม่เรียกประชุมฉุกเฉิน

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินการของ Fed สะท้อนความกังวลและสถานการณ์ในตลาดเงินของสหรัฐ ซึ่งจะต้องติดตามการตอบรับของตลาดและผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ร่วมตลาดอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยยืนยันว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ตามกำหนดการปกติ ไม่ได้มีการเรียกประชุมฉุกเฉิน

ก่อนหน้านี้ ธปท.ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่า ในการประชุม กนง.รอบนี้จะมีการปรับประมาณการ GDP ใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวหนักกว่าที่คาดไว้ จากเดิมคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะโต 2.8%

แห่หั่น GDP ไทยติดลบ

ขณะที่สำนักวิจัยต่าง ๆ อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2563 ติดลบ -0.4% เช่นเดียวกับ นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เป็นหดตัว -0.3% จากเดิมคาดขยายตัว 1.8% ผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี โดยส่งผ่าน 3 เครื่องยนต์หลัก คือ ภาคการท่องเที่ยว, ส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศ

“ขณะที่มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด technical re-cession ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยในไตรมาส 1 และ 2 ของปี เศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวทั้งเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากมีหลายปัจจัยรุมเร้า และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงปลายไตรมาส 3 ตามสมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงดังกล่าว ตลอดจนมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น” นายยรรยงกล่าว

ไทยเข้าสู่ภาวะ เศรษฐกกิจถดถอย

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากเดิมที่มองว่าเสี่ยงสูงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สะท้อนจากตัวเลขดัชนีชี้วัดต่าง ๆ เริ่มชัดเจนขึ้น รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยหายไปในวงกว้างมากขึ้น และนโยบายต่าง ๆ ที่ต่างประเทศทยอยออกมาเริ่มชัดขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารจึงได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 อยู่ที่ -0.8% จากประมาณการเดิม 1.5% ปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีอัตราการติดลบสูงถึง 30% หรือลดลงอยู่ที่ 27.8 ล้านคน

“ภาพรวมปีนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว แต่หลังจากวันนี้ ผลจากไวรัสโควิด-19 กระทบระบบเศรษฐกิจไทย จากก่อนหน้ากระทบคนอื่นและส่งผ่านมาที่ประเทศไทย แต่วันนี้เกิดขึ้นในไทย ดังนั้น เราต้องเผชิญเศรษฐกิจหดตัวในระยะต่อไป”

ลุ้น กนง. หั่นดอกเบี้ยรวด 0.50%

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การประชุม กนง.รอบวันที่ 25 มี.ค.นี้ มีสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างชัดเจน และมีโอกาสเพิ่มการลดดอกเบี้ยเป็น 0.50% ในคราวเดียว จากครั้งก่อนที่ลด 0.25% เนื่องจากสถานการณ์แย่ลงค่อนข้างชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระให้ภาคธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะต้องเห็นการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยไปยังธนาคารพาณิชย์ที่เร็วขึ้น

ส่วนนโยบายการคลังจะต้องเป็นมาตรการที่เร็วและถึงมือประชาชนเร็วที่สุด เช่นเดียวกับที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน และใช้มาตรการ QE สะท้อนว่า สถานการณ์แย่กว่าที่คาดการณ์ และมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

ดอกเบี้ยไทยไม่ถึง 0%

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการ GDP ปีนี้โตที่ 0.5% แต่ยอมรับว่าไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคชั่วคราวช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากตัวเลข GDP ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 จะออกมาติดลบต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยขอประเมินสถานการณ์อีก 1-2 เดือน ในแง่การควบคุมการแพร่ระบาด และอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย ก่อนทบทวนตัวเลขการเติบโต แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยลงลึกกว่าที่ประมาณการไว้

นางสาวธัญญลักษณ์กล่าวว่า สำหรับโอกาสที่ไทยจะลดดอกเบี้ยลงไปถึง 0% นั้นค่อนข้างยาก เพราะประเทศไทยมีโครงสร้างที่ไม่เหมือนประเทศอื่น ยังมีบางกลุ่มที่ยังพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ย โดยเฉพาะไทยจะก้าวสู่สังคมสูงวัย อัตราดอกเบี้ยจึงไม่ควรลงไปถึงระดับ 0% แม้ว่าในทางทฤษฎีจะสามารถทำได้ หากสภาพเศรษฐกิจแย่มาก ๆ แต่มุมมองของศูนย์วิจัยฯยังมองว่า ไทยยังคงไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่การลดอัตราดอกเบี้ยจะแรงขึ้น

“การลดดอกเบี้ยไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะแก้ปัญหาได้ แต่เป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์ที่จะต้องทำ เพราะรอบนี้เป็นช็อกที่เกิดจากปัจจัยภายนอก หันไปที่ไหนก็โดนกันหมด จึงต้องกลับมาดูว่าการแก้ปัญหาควบคุมโรค การจัดการความเสี่ยง และการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน โดยจะต้องใช้มาตรการอื่น ๆ ร่วมด้วย จะช่วยการฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในปลายปีนี้ หรือปีหน้า”

จี้ฟื้นเชื่อมั่น-แก้ปัญหาแรงงาน

ขณะที่นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยชั่วคราว ซึ่งทุกคนหวังว่าจะจบได้ภายในปีนี้ แต่สิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นเป็นเรื่องนโยบายจำกัดความเสียหายไม่ให้ลากยาว โดยเฉพาะตลาดแรงงานหากถูกกระทบจนเกิดการเลิกจ้างงาน และไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ จะเป็นความเสียหายถาวร ดังนั้นจำเป็นต้องมีนโยบายเข้ามาดูแลส่วนนี้ รวมถึงนโยบายดูแลการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรายได้ที่หายไปในช่วง 3-4 เดือน ไม่สามารถชำระหนี้หรือจ่ายดอกเบี้ยได้ หากไม่มีนโยบายมาดูหรือช่วยจะส่งผลเสียระยะยาว กลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

เมื่อนโยบายการเงินไม่สามารถทำได้เต็มที่ จำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วย เช่น ประเทศเยอรมนี ที่ส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่มีสายป่านไม่ยาว หรือนโยบายการช่วยแรงงาน หรือกลุ่มที่ตกงานให้สามารถมีเงินใช้ เพราะกลุ่มนี้จะมีผลต่อการบริโภค หากสามารถมีเงินใช้จะทำให้การบริโภคไปต่อ เช่นเดียวกับสหรัฐ ที่อยู่ระหว่างการนำนโยบายเหล่านี้เข้าสภา และกำลังทยอยเรียกความเชื่อมั่น หลังจากใช้นโยบายการเงินเต็มที่โดยปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1.00% มาอยู่ที่ 0.00-0.25% และใช้มาตรการ QE อัดเม็ดเงินอีก 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ