ตลท.รื้อเกณฑ์เทรดยกแผง สกัดหุ้นไทยดิ่งหนักต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นไทยอ่วมอรทัย “บล.เอเซีย พลัส” เผย แค่ช่วง 2 วันที่หุ้นตกหนัก มาร์เก็ตแคปวูบ 1.3 ล้านล้านบาท ตลท.ต้องงัด “เซอร์กิตเบรกเกอร์” มาใช้ พร้อมปรับ “ชอร์ตเซลล์” ล่าสุด ปรับเกณฑ์ราคาสูงสุด-ต่ำสุดหุ้นในแต่ละวันลดลงเหลือ +/-15% จากเดิม +/-30% พร้อมขีดเส้นหุ้นตก 8% ต้องใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ จากเดิม 10% หวังลดความร้อนแรงเวลาเทขาย ฟาก “บล.ทรีนีตี้” ชี้ปรับมาตรการ “ขายชอร์ต” ช่วยประคองดัชนีไม่ไหลลงลึก

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ปรับตัวลดลงอย่างหนัก ในวันที่ 12 มี.ค. และ 13 มี.ค. ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องประกาศหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว 30 นาที (circuit breaker level 1) ติดต่อกัน 2 วันทำการ โดยจากข้อมูลพบว่า ช่วงเวลา 2 วันดังกล่าว SET index ปรับลดลงไปรวมทั้งสิ้น 120.98 จุด หรือลดลง 9.67% มาปิดที่ 1,128.91 จุด จากเดิมอยู่ที่ 1,249.89 จุด ซึ่งส่งผลทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ในช่วง 2 วันดังกล่าว ปรับลดลงไปกว่า 1.3 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 12.14 ล้านล้านบาท จากเดิมที่ 13.44 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนประเภทต่าง ๆ ในช่วง 2 วันดังกล่าวพบว่า กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเป็นกลุ่มที่ขายสุทธิ (net sell) มากที่สุดอยู่ที่ 9,549 ล้านบาท และกลุ่มบัญชี บล.ขายสุทธิที่ 4,806 ล้านบาท ส่วนกลุ่มสถาบันซื้อสุทธิ (net buy) 6,179 ล้านบาท และกลุ่มในประเทศซื้อสุทธิ 8,176 ล้านบาท

ส่วนการที่ทางการมีมาตรการปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ต (short sell) ในวันที่ 13 มี.ค.นั้น นายชาญชัยกล่าวว่า สามารถลดความร้อนแรงในการขายชอร์ตเท่านั้น โดยเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (up tick) กล่าวคือ นักลงทุนจะต้องวางชอร์ตที่ราคาเสนอขาย (offer) หรือสูงกว่า โดยเกณฑ์การขายชอร์ตใหม่เริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 13 มี.ค. จนถึง 30 มิ.ย. 63

“ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวอาจจะช่วยประคองตลาดได้จำกัด เนื่องจากมาตรการไม่ได้ห้ามทำการขายชอร์ตทั้งหมด เพียงแต่ลดความร้อนแรงของการขายชอร์ตเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกลไกการซื้อขายรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นการเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดหุ้น เช่น การซื้อขายบล็อกเทรด การซื้อขายอนุพันธ์ประเภทต่าง ๆ และการซื้อขายด้วยมาร์จิ้น เป็นต้น ซึ่งกลไกส่วนที่เหลือยังคงทำงานอยู่และสามารถเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นได้ในช่วงต่อไป” นายชาญชัยกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการเตรียมการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นของรัฐบาลนั้น นายชาญชัยกล่าวว่า หากหวังผลให้ SET index ปรับตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินสูงกว่ากองทุนพยุงหุ้นที่เคยจัดตั้งในอดีต เช่น ในปี 2535 และปี 2546 ที่มีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีขนาดราว 12-16 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าอดีตประมาณ 10 เท่า

“ยังมีประเด็นว่าแหล่งระดมเงินทุนสำหรับการจัดตั้งกองทุนก็หายาก และจำกัดมากกว่าในอดีต ซึ่งเรามองว่าการนำกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาใช้อีกครั้ง ถือเป็นทางเลือกที่ดี” นายชาญชัยกล่าว

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การปรับเกณฑ์การขายชอร์ตของตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะช่วยลดแรงกระแทกระหว่างวันไม่ให้ SET index ไหลลงหลุดแนวรับเหมือนวันที่ 12 และ 13 มี.ค.ที่ผ่านมาได้ ดังนั้น ภาพการเคลื่อนไหวของดัชนีในระยะข้างหน้าน่าจะไม่รุนแรงเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา ส่วนกระแสการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากภาครัฐและตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาตรการการช่วยเหลือในส่วนของการขายกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่ให้วงเงินลดหย่อนภาษีพิเศษอีก 2 แสนบาท และปรับเกณฑ์การขายชอร์ตไปแล้ว

“ยังมีข้อจำกัดของขนาดกองทุนพยุงหุ้นที่หากมีขนาดใหญ่ไม่มากพอ ก็จะมีกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในวงจำกัด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลตลท.พบว่า มูลค่าตลาดปีนี้ตั้งแต่ต้นปีถึง ณ 16 มี.ค. 63 ลดลงไปแล้ว 4.62 ล้านล้านบาท จากต้นปีอยู่ที่ 15.86 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 11.24 ล้านล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตลท. ได้ปรับเกณฑ์ราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (ซิลลิ่งและฟลอร์) ของหุ้นในแต่ละวันลงจาก +/-30% เป็น +/-15% และปรับเซอร์กิตเบรกเกอร์ลงจากเดิมที่หุ้นต้องตก 10% เป็น 8% โดยให้หยุดพักการซื้อขาย 30 นาทีตามเดิม ตั้งแต่ 18 มี.ค.-30 มิ.ย. 63 ทั้งนี้ การปรับเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยทำให้ตลาดปรับตัวช้าลง ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการกีดกันการซื้อขาย แต่ทำให้การขายทำได้ช้าลง