นักลงทุนแห่เข้าถือครองดอลลาร์สหรัฐท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สถานการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 19 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/3) ที่ระดับ 32.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (18/3) ที่ระดับ 32.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 และเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 3 ปี โดยนักลงทุนยังคงเข้าถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) รวมทั้งได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐประกาศมาตรการเยียวยาผลกระทบของ COVID-19 ในการจ่ายเช็คให้แก่ชาวอเมริกันในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า วงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การเลื่อนชำระภาษีของทั้งภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจัดตั้งวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตามรายอุตสาหกรรมรวม 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะอัดฉีดให้แก่อุตสาหกรรมการบินถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติงบประมาณดังกล่าว มิฉะนั้นแล้วในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอัตราการว่างงานในสหรัฐ อาจพุ่งแตะระดับ 20% ก่อนวิกฤตการณ์นี้จะจบลง ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 1.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับ 1.599 ล้านยูนิต จาก 1.624 ล้านยูนิตในเดือนกุมภาพันธ์ จากเดือนก่อนหน้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.2% สู่ระดับ 1,550 ล้านยูนิต

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์จากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยที่ส่อแววทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อปรับตัวเพิ่มขึ้อย่างก้าวกระโดดในสัปดาห์ที่ผ่านมาทะลุ 200 ราย ตามรายงานเมื่อวันพุธ (18/3) รวมทั้งกระแสทุนไหลออกจากตลาดเอเชียก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันค่าเงินบาทเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.50-32.73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/3) ที่ระดับ 1.0917/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/3) ที่ระดับ 1.1005/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สหรัฐค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในภูมิภาคที่ยังควบคุมไม่ได้ มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วทุกวันในหลายประเทศ เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี และกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องเร่งเพิ่มการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน

โดยในสัปดาห์ก่อนหน้า อีซีบีประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ 1.2 แสนล้านยูโรจนถึงสิ้นปีนี้ รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับอีซีบีที่ระดับ -0.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากอีซีบีที่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี อีซีบีได้มีการประกาศโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐวงเงินรวม 7.5 แสนล้านยูโรในวันพุธที่ผ่านมา (18/3) เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัส (COVID-19 ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจ มีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนประจำเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 1.2% สอดคล้องกับการคาดการณ์เบื้องต้น แต่ปรับลดลงจากเดือนมกราคมที่ระดับ 1.4% และยังคงต่ำกว่าระดับเป้าหมายของอีซีบีที่ 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0811-1.0980 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0835/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/3) ที่ระดับ 108.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/3) ที่ระดับ 107.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับสกุลเงินหลักอื่น หลังจากที่มีการแข็งค่าทดสอบระดับ 102.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (9/3-13/3)

อย่างไรก็ดี ในถ้อยแถลงของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต่อรัฐสภาวานนี้ (18/3) เปิดเผยว่า บีโอเจประสบภาวะขาดทุน 2-3 ล้านล้านเยนจากการถือครองกองทุน ETF ในขณะนี้หลังจากราคาหุ้นดิ่งลงอย่างหนักจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมทั้งนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ เตรียมสั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าการธนาคารกลางออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นประจำเดือนกุมภาพันธ์หดตัวลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ 0% แต่หากไม่รวมราคาสินค้าสดซึ่งมีความผันผวนสูงจะขยายตัว 0.6% ลดลงจากเดือนมกราคมที่ขยายตัว 0.8% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลือนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.84-109.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตซึ่งจัดทำโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียประจำเดือนมีนาคม จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกประจำสัปดาห์ก่อนหน้า และยอดขายบ้านมือสองประจำเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.0/-0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.50/+5.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ