“กองทุนพยุงหุ้น” ช่วยตลาดได้แค่ไหน?

ตลาดหุ้น
โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส

ความกังวลต่อประเด็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ยังคงสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดหุ้นไทยอย่างมาก แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ทยอยออกมาตรการเพื่อพยุงตลาดหุ้น แต่ก็ยังไม่สามารถพยุงตลาดได้ และในที่สุดก็ถึงคราวของกองทุนพยุงหุ้นที่จะเข้ามาเป็นพระเอก โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาเรื่องตั้งกองทุนพยุงหุ้นวันที่ 24 มี.ค.63 นี้

ก่อนที่เราจะไปวิเคราะห์กันว่า กองทุนพยุงหุ้น จะช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยได้มากน้อยแค่ไหน เรามาดูมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมาแล้ว มีอะไรบ้าง

1.รัฐจัดทำกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เงื่อนไขพิเศษ คล้ายกับกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) แต่มีระยะเวลาการถือครอง 10 ปี โดยเริ่มจัดจำหน่ายในเดือน เม.ย.-มิ.ย.63

2.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับเกณฑ์ต่างๆ เพื่อลดความผันผวนตลาด โดยกำหนดให้ขายชอร์ต (Short Sell) หุ้นได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Up Tick) ช่วยพยุงให้ราคาหุ้นปรับฐานไม่เร่งตัวเร็วเท่าอดีตที่ผ่านมา

3.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์การหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว (Circuit Breaker) โดยหากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ลดลง 8% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที หากลดลง 15% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที และหาก SET Index ลดลง 20% จะหยุดซื้อขาย 60 นาที หลังจากนั้นจะเปิดซื้อขายต่อจนถึงสิ้นวัน

4.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์ราคาซื้อขายสูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละวัน (Floor-Ceiling) เหลือ +/- 15% จากเดิมที่ +/- 30% โดยเกณฑ์ใหม่บังคับใช้แต่วันที่ 18 มี.ค. – 30 มิ.ย.63

ล่าสุดทางฝั่งรัฐบาลเตรียมจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 24 มี.ค.63 เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุน ซึ่งรัฐบาลระบุว่าการระดมทุนดังกล่าวไม่จำเป็นต้องใช้เงินภาษีของประชาชน แต่อาจใช้การระดมเงินจากการจัดตั้งกองทุนใหม่ หรือใช้กองทุนวายุภักษ์เดิมเพิ่มเงินลงทุนเข้ามาสนับสนุนอีก 1 แสนล้านบาท โดยจะขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนสถาบันและรายย่อย 20-30 วัน ทั้งนี้นโยบายการลงทุนจะเน้นหุ้นที่อยู่ใน SET50 และ SET100

ฝ่ายวิจัยได้ไปดูอดีตตอนที่มีการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ พบว่า ปี 2535 และ 2546 มีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท พบว่าช่วยหนุน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือน หลังจากจัดตั้งกองทุน 16.7% และ 20% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าตลาด (Market Cap) ราว 12 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่าอดีตในช่วงปี 2535 และ 2546 ที่ 1-2 ล้านล้านบาทมาก ดังนั้นหากจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นด้วยเม็ดเงินที่เท่ากับปี 2535 คือ 1 แสนล้านบาท อาจมีประสิทธิภาพในการพยุงตลาดหุ้นได้ไม่มากเท่าในอดีต