“สมาคม บลจ.” รับลูก “คลัง-ธปท.-ก.ล.ต.” พร้อมดำเนิน 3 มาตรการรับมือนักลงทุนแห่ขายกองตราสารหนี้

วศิน วณิชย์วรนันต์

จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความกังวลให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก นักลงทุนในหลายประเทศทยอยขายสินทรัพย์ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดการเงิน รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ของไทยที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนสูงกว่าภาวะปกติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตลาดการเงินและตลาดทุน ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้แถลงมาตรการรองรับสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 มี.ค.63 (วานนี้) แล้วนั้น

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ได้ชี้แจงมาตรการที่ได้ตกลงร่วมกับหน่ายงานที่เกี่ยวข้องและมาตรการที่อุตสาหกรรมจะดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อสร้างเสถียรภาพของอุตสาหกรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ดังนี้

1. ใช้กลไกเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่สามารถเปิดให้ทำการซื้อขายได้ทุกวันทำการ (Daily Fixed Income Fund) ซึ่งได้ลงทุนไว้ในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี แต่อาจจะได้รับผลกระทบเรื่องสภาพคล่องในระยะสั้นจากการขายคืนของผู้ถือหน่วยลงทุนพร้อมๆ กัน โดยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวไปวางเป็นหลักประกันทำธุรกรรมซื้อคืน (Repurchase Agreement – Repo) กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้กองทุนบริหารสภาพคล่องได้ดีขึ้น

2. ธนาคารแห่งประเทศไทย จะจัดตั้งกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องตราสารหนี้เอกชน รองรับตราสารหนี้เอกชนออกใหม่ที่มีคุณภาพดีให้สามารถต่ออายุ (Roll Over) ต่อไปได้ และช่วยลดความเสี่ยงในการไม่สามารถชำระหนี้ได้ (Default Risk) ของตราสารหนี้ดังกล่าว

3. ธนาคารแห่งประเทศไทย จะดูแลตลาดพันธบัตรให้มีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น

4. สมาคมฯ ได้เสนอให้สำนักงาน ก.ล.ต.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์และข้อจำกัดบางประการเป็นการชั่วคราว เพื่อให้กองทุนรวมตราสารหนี้มีเครื่องมือบริหารพอร์ทการลงทุนและสภาพคล่องได้ดีขึ้นในสภาวะตลาดผันผวน


ด้วยมาตรการข้างต้นนี้ สมาคมฯ มั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีให้อยู่ในระดับปกติและป้องกันไม่ให้ผู้ถือหน่วยได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น