ตลท.หวั่นแผนไอพีโอกลางปีล่ม โบรกกุมขมับไวรัสลามหนักลูกค้าเลื่อนระดมทุน

แมนพงศ์ เสนาณรงค์

ตลาดหลักทรัพย์ฯ หวั่นผลกระทบโควิด-19 ยืดเยื้อกระทบแผนระดมทุนหุ้นไอพีโอกลางปีล่ม ชี้ต้นปีเป็นโลว์ซีซั่นยังไม่เห็นผลกระทบมาก มั่นใจยกเลิกเกณฑ์รับหุ้นมาร์เก็ตแคปสูงเข้าจดทะเบียนไม่กระทบไอพีโอ ด้านโบรกฯ “เมย์แบงก์ฯ-ASP” โอดตลาดหุ้นดิ่งหนักลูกค้าแห่ชะลอแผนเข้าระดมทุน

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ดัชนีในช่วงที่ผ่านมา เคลื่อนไหวผันผวนและปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยภาวะตลาดเช่นนี้ถือเป็นปัจจัยกดดันหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)

“ช่วงต้นปี ปกติก็เป็นช่วงโลว์ซีซั่นในการเข้ามาระดมทุนอยู่แล้ว จึงยังไม่เห็นผลกระทบมาก อย่างตอนนี้หุ้นไอพีโอที่อยู่ระหว่างกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ฯ และพร้อมจะเข้ามาซื้อขายเป็นวันแรกก็ยังไม่มี แต่หากภาวะตลาดยังโดนกดดันจากไวรัสแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ปกติจะมีหุ้นไอพีโอเข้ามาระดมทุนกันค่อนข้างสูงทุก ๆ ปี ก็เชื่อว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาระดมทุนหรืออาจเห็นบริษัทชะลอการลงทุนออกไป” นายแมนพงศ์กล่าว

นายแมนพงศ์กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ บจ.ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดรับฟังความเห็นไประหว่างวันที่ 17 ก.พ.-6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอให้ยกเลิกรับจดทะเบียนหลักทรัพย์ใหม่ด้วยเกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) แม้จะยังไม่มีผลประกอบการตามเกณฑ์ก็ตาม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการเข้ามาระดมทุนของ บจ.ในปีนี้ เนื่องจากตั้งแต่กำหนดเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นมา พบว่ามี บจ.เพียง 12 แห่งเท่านั้นที่ระดมทุนด้วยเกณฑ์นี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นไอพีโอที่ระดมทุนราว 25-40 แห่ง/ปี

นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า บล.เมย์แบงก์ฯ มีหุ้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (upcoming IPO) ทั้งหมด 3 ราย แบ่งเป็นหุ้นที่ยื่นเข้า SET 2 ราย ได้แก่ บมจ.ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) และ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ส่วนหุ้นที่ยื่นเข้า mai ได้แก่ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) โดยยอมรับว่าสภาวะตลาดส่งผลกระทบให้หุ้นไอพีโอที่จะเข้าระดมทุน ต้องเลื่อนแผนการเข้าระดมทุนออกไปก่อน เพื่อรอประเมินสถานการณ์

“ในช่วงที่บรรยากาศในตลาดเป็นแบบนี้ หุ้นทุกตัวที่เราทำอยู่ก็คงต้องหยุดเอาไว้ก่อน และรอดูสถานการณ์อีกทีหนึ่ง สำหรับดีลหุ้นไอพีโอที่ได้รับการอนุมัติ (approved) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว เพื่อรอให้สภาวะตลาดเอื้ออำนวยก่อน แต่ในส่วนของดีลที่ยังไม่ได้ยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน ก.ล.ต.ก็ยังดำเนินการไปตามปกติ เพราะไม่ได้รับผลกระทบอะไร” นายประเสริฐกล่าว

ส่วนจะมีความเสี่ยงต้องเลื่อนการระดมทุนไปจนถึงปี 2564 หรือไม่นั้น นายประเสริฐกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ประเมินได้ค่อนข้างลำบาก ว่าการเลื่อนระดมทุนหุ้นไอพีโอจะต้องเลื่อนออกไปนานขนาดไหน

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดต่ำลง และส่งผลให้ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไม่น่าสนใจ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจเสนอขายหุ้นไอพีโอของลูกค้าที่บริษัทรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ให้ต้องชะลอออกไป เนื่องจากภาวะตลาดที่ไม่ค่อยดี ทำให้ราคาหุ้นไอพีโอมีความเสี่ยงที่ราคาเปิดในการซื้อขายวันแรกอาจต่ำกว่าราคาจองซื้อไอพีโอ


ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีงานวาณิชธนกิจรวมทั้งหมด 39 งาน แบ่งเป็นงานที่ปรึกษาการเงิน 11 ราย และงานที่ปรึกษาสำหรับเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) อีก 28 ราย โดยมีทั้งหมด 2 ราย ที่อยู่ระหว่างยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเข้าระดมทุนใน SET ได้แก่ บมจ.ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) และ บมจ.ไซมิส แอสเสท (SA)