ดอลลาร์อ่อน หลังเฟดทำ QE ไม่จำกัดวงเงิน

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาครกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 24 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 32.80/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (23/3) ที่ระดับ 32.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ปรับตัวในทิศทางอ่อนค่า หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบไม่จำกัดจำนวนเงิน และนโยบายสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนตลาดหลังจากที่ภาคการค้าต้องหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวได้รวมถึง การเข้าซื้อคืนตลาดพันธบัตรภาคเอกชน, การค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อโดยตรงแก่รายปลีกและรายย่อย  อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงติดตามนโยบายการคลังของสหรัฐ โดยล่าสุดสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐได้พักการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในวันจันทร์ (23/3) ไว้ชั่วคราว หลังจากที่ประชุมมีมติ 49 ต่อ 46 เสียง ซึ่งยังขาดอีก 60 เสียงเพื่ออนุมัติมาตรการที่มีวงเงินสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยจะประกาศใช้วันที่ 26 มีนาคมนี้ ทั้งนี้อำนาจตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ประกอบด้วย ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด, ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ, ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคหรือการใช้ยานพาหนะ, ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสานที่ใด ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.78-32.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 1.0799/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (23/3) ที่ระดับ 1.0682/85 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่เผยออกมาเมื่อวาน (23/3) ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซนเดือนมีนาคมหดตัว 11.6 จุด น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวที่ 14.2 จุด ทั้งนี้นักลงทุนติดตามแผนนโยบายการคลังของประเทศเยอรมนีหลังมีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านยูโรในปีนี้ และจะประกาศงบประมาณเพิ่มเติมอีก 156 ล้านยูโร โดยในการประชุมวันจันทร์ (23/3) ที่ผ่านมา นางแองเจลา มาร์เคล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีได้เสนอตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่สำคัญต่าง ๆ และคาดากรณ์ว่าจะขยายเพดานหนี้ โดยการขยายเพดานหนี้นี้เป็นข้อห้ามสำคัญของประเทศเยอรมนีเพราะจะทำให้งบประมาณเชิงโครงสร้างจะขาดดุลอย่างหนัก

ในระหว่างวันค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลังตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญเผยออกมาดีกว่าคาด ได้แก่ ตัวเลขภาคการผลิตเดือนมีนคมของฝรั่งเศส เยอรมนี และยูโรโซนขยายตัว 42.9 , 45.7 และ 44.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตและบริการโดยรวมของยูโรโซนในเดือนมีนาคม หดตัวลงสู่ระดับ 31.4 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวอยู่ที่ระดับ 38.8 ทั้งในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0753-1.0865 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0823/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 110.34/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระับปิดลาดเมื่อวันจันทร์ (23/3) ที่ระดับ 110.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึันตามการอ่อนค่าของดลลาร์สหรัฐ ในส่วนของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ส่งผลให้การแข่งขันโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นกลางปีนี้ต้องถูกเลื่อนออกไปโดยระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ทางรัฐบาลประเมินค่าความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังรัฐบาลญี่ปุ่นเผย รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศ G-7 จะจัดการประชุมทางไกลในวันนี้ (24/3) เพื่อหารือเกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.10-110.95 เยน/ดอลลาร์ และปิดตลาดที่ระดับ 110.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (24/3), การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (25/3), ดัชนีภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เดือนกุมภาพันธ์ (25/3), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (25/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหราชอาณาจักร เดือนกุมภาพันธ์ (25/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส 4/19 (26/3), ดัชนียอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร เดือนกุมภาพันธ์ (26/3), ดัชนีความเชือมั่นผู้บริโภคของเยอรมนี เดือนเมษายน (26/3),ดัชนีราคาด้านการใช้จ่ายการบริโภคขั้นพื้นฐานของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ เดือนกุมภาพันธ์ (27/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.00/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.00/+5.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ