แจกหมื่นห้า 3ล้านคน อุ้มคนตกงานพยุงธุรกิจ

โควิด-19 สะเทือนทั่วแผ่นดิน รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน อัดฉีดแพ็กเกจเศรษฐกิจรอบ 3-4 หลังทุ่มมาตรการชุด 2 เต็มเหนี่ยว 80,326 ล้านบาท จ่ายตรงผู้ตกงานฉับพลัน หัวละ 5,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือน ลงทะเบียนจ่ายชดเชยแรงงานในประกันสังคม 70% ของค่าจ้าง ยืดจ่ายภาษีบุคคลธรรมดา 5 เดือน ขยับสารพัดรายจ่ายภาษีนิติบุคคลเติมสภาพคล่อง 1.2 แสนล้าน สั่งธนาคารรัฐร่วมปล่อยกู้ดอกเบี้ยติดดินรายละ 5 หมื่น

จ่าย 5,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือน

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมระยะที่ 2 ดังนี้ มาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมจากการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย การเพิ่มสภาพคล่อง ได้แก่ 1.สนับสนุนเงินรายละ 5,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 3 ล้านคน ชั่วคราว เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนต สถานบริการอื่น ๆ งบประมาณทั้งหมด 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นงบฯกลาง 2 หมื่นล้านบาท สำนักงบประมาณจัดสรรอีก 2.5 หมื่นล้านบาท

“สามารถลงทะเบียนได้ที่ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย และช่องทางออนไลน์ เริ่มลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ โดยจะโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์”

2.สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้น และดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

กู้ 50,000/ราย ดอกเบี้ย 0.35%

3.สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือนระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

4.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.)โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี มาตรการที่ 2, 3, 4 ใช้งบประมาณ 30,946 ล้านบาท

ยืดภาษีบุคคลธรรมดา 5 เดือน

นายลวรณกล่าวว่า การลดภาระ ได้แก่ 1.เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563

2.หักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น จากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป

3.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2563

แจกเบี้ยเลี้ยงอบรมวันละ 300

นอกจากนี้ยังเห็นชอบการเพิ่มทักษะและเสริมความรู้ ฝึกอบรมมีเงินใช้วันละ 300 บาท ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงนักศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ ใช้งบประมาณ 4,380 ล้านบาท

นายลวรณกล่าวต่อว่า มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ 7 มาตรการ ได้แก่ 1.สินเชื่อเพื่อรายย่อย ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ 1.2 แสน ล้าน

2.เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้ รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด.50) ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด.51) ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด.50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด.51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท

3.เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ ออกไป 1 เดือน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ พิจารณาเป็นรายกรณี คาดว่าช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้เอกชนได้ 9.2 หมื่นล้านบาท

4.ขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563)

5.ขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการ ได้แก่ ไนต์คลับ
ดิสโก้เธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลานจ์ รวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีออกไป 3 เดือน หรือภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563

6.ยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไป 6 เดือน หรือวันที่ 30 กันยายน 2563

7.ยกเว้นภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด เช่าซื้อ
ลีสซิ่ง และเจ้าหนี้อื่นที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

เตรียมออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีมาตรการทยอยออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งมาตรการที่ออกมาต้องเริ่มจ่ายเงินได้โดยเร็วในต้นเดือนเมษายนนี้

“ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว ในช่วงปลายปีก็จะดีขึ้น เสร็จจากมาตรการเฟส 2 หรือ เม.ย.-ก.ค. จะเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง มาตรการอีกชุดก็จะออกมาครอบคลุมกับการช่วยเหลือเรื่องภัยแล้ง และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ”

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับแนวคิดการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินนั้นได้เตรียมไว้พร้อมแล้ว แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องกู้ เพราะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่มีข้อจำกัดให้กู้ได้ไม่มาก

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การยืดเวลาการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคคส่งผลให้จัดเก็บเงินได้ช้าลง 1.5 แสนล้านบาท ส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ส่งผลให้สูญเสียรายได้ 250 ล้านบาท

ตกงานชดเชยร้อยละ 70

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ….

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้ กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565 โดยเพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายวัน สำหรับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างโดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 200 วัน และเพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 45 ของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะเหตุลาออกจากงานหรือเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน

รัฐสั่งปิดกิจการได้ค่าแรง 100%

ส่วนร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวน 100% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน

“กำหนดให้กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกิน 60 วัน”

ยืดส่งเงินสมทบประกันสังคม

นางนฤมลกล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบ ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือน มี.ค. 2563 ให้ยื่นแบบรายการฯภายในวันที่ 15 ก.ค. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเม.ย. 2563 ให้ยื่นแบบรายการฯภายใน
วันที่ 15 ส.ค. 2563 ค่าจ้างงวดเดือน พ.ค. 2563 ให้ยื่นแบบรายการฯภายในวันที่ 15 ก.ย. 2563

และให้ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือน มี.ค. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 ก.ค. 2563 เงินสมทบงวดเดือน เม.ย. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 ส.ค. 2563 เงินสมทบงวดเดือน พ.ค. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 ก.ย. 2563

ผ่อนผันต่างด้าวถึง 30 มิ.ย.

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบการผ่อนปรน แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ในห้วงปี’62-63 ให้ดำเนินการตั้งแต่ 1 เม.ย. 2563-30 มิ.ย. 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. 20 ส.ค. 2562 นายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายใน 31 มี.ค. 2563 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้จนถึง 30 มิ.ย. 2563 และผ่อนผันแรงงานต่างด้าวทำงานไปพลางก่อนจนถึง 30 มิ.ย. 2563

ลดเงินประกันมัคคุเทศก์

นางนฤมลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบเสนอร่างกฎกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แทนกฎกระทรวงฉบับเดิม ที่เกี่ยวข้องจำนวนเงินหลักประกันสำหรับผู้ประกอบธุรกิจด้านการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ประเภท 1.ธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ จากหลักประกันตามกฎกระทรวงปี 2555 จำนวน 1 หมื่นบาท เหลือเพียง 3 พันบาท 2.ธุรกิจนำเที่ยวประเภทในประเทศ เดิมกำหนดไว้ 5 หมื่นบาท เหลือ 1.5 หมื่นบาท 3.ธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ จากเดิมกำหนด 1 แสนบาท เหลือ 3 หมื่นบาท 4.ธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป จากเดิมกำหนด 2 แสนบาท เหลือ 6 หมื่นบาท

ภาษีน้ำมันเหลือ 0.20 บาท/ลิตร

มาตรการเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะกรณีธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบทั้งอินบาวนด์และเอาต์บาวนด์รวมถึง
การท่องเที่ยวภายในประเทศ แบ่งวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท จากมาตรการซอฟต์โลน 150,000 ล้านบาท ภายใต้มาตรการเยียวยาระยะที่ 1 ให้กับธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยกู้ในธุรกิจท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้เลื่อนการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุสำหรับผู้เช่าประเภทผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 และยังมีมาตรการดูแลสายการบินที่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น จาก 4.726 บาทต่อลิตรเป็น 0.20 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

เงื่อนไขขอสินเชื่อยังไม่ชัด

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า มาตรการทางด้านสินเชื่อที่ออกมาใหม่น่าจะเอื้อต่อการเข้าถึงของผู้ประกอบการขนาดย่อม (SMEs) มากขึ้น แต่ส่วนที่เป็นกังวล คือ มาตรการไม่ได้ระบุถึงการผ่อนปรนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่ง สทท.เตรียมประสานงานกับสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อหารือร่วมกัน และจะรวบรวมผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านเกณฑ์การกู้เข้ายื่นเรื่องกับกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดทางการผ่อนปรนเรื่องหลักทรัพย์ต่อไป

สำหรับมาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น สทท.เห็นด้วยอย่างเต็มที่ เสนอให้รัฐดูแลผู้ประกอบการ ตั้งศูนย์เพื่อช่วยเหลือในการลงทะเบียนรับการเยียวยาหรือการประสานงานนายจ้าง เพื่อดูแลให้ลูกจ้างเข้าถึงเงินชดเชยได้ทั้งระบบ

นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวเสริมว่า มาตรการเป็นไปตามที่ภาคเอกชนร้องขอ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้ดีน่าพอใจ เพราะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและต้องการเข้าถึงสินเชื่อ

เอกชนขานรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะในภาวะอย่างนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกับรัฐแก้ปัญหา แต่รัฐบาลผ่อนปรนเวลาให้มีการกระจายสินค้าให้กับประชาชน

ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือว่าครอบคลุมทุกอย่างแล้ว จากนั้นอยากให้รัฐกำหนดรายละเอียดทำความเข้าใจให้ชัดเจน

“เร็วไปที่จะประเมินเศรษฐกิจ แต่ทางสภาหอการค้าไทยจะประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ภาวะการค้าและการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่อไป”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรวางข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนโดยคำนึงถึงความจำเป็นต้องทำงานด้วย เช่น การขนส่ง การกระจายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องทำอย่างไร และในการประชุม กรอ.พาณิชย์จะหารือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน