กลุ่มแบงก์โคม่ากำไรฮวบ 20% เศรษฐกิจซมพิษโควิด-สินเชื่อหด-ดอกเบี้ยขาลง

แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.12-0.25% รับมติ กนง.รอบพิเศษ โบรกฯพาเหรดปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มแบงก์ปี’63 “บล.เอเซีย พลัส” เฉือนคาดการณ์กำไรลง 20% เหลือโตแค่ 1.47 แสนล้านบาท เหตุเศรษฐกิจชะลอตัวกดดันสินเชื่อปีนี้ทรงตัว-กนง.หั่นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนพุ่ง ขณะที่แบงก์ที่เน้นธุรกิจเช่าซื้อรับอานิสงส์บวกดอกเบี้ยขาลง “บล.กสิกรไทย” คาด กนง. 25 มี.ค.ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.50% เชื่อแบงก์แห่ลดดอกเบี้ยตามอีกรอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.12-0.25% หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประชุมนัดพิเศษ และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.75% ซึ่งส่วนใหญ่มีผลตั้งแต่ 24 มี.ค. ยกเว้นบางธนาคารที่มีผล 1 เม.ย. 2563

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัย ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ลงราว 4.3 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 20% มาอยู่ที่ 1.47 แสนล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งการปรับลดประมาณการมาจากสมมุติฐานหลัก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.การเติบโตลดลงของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จากเดิมที่มีโอกาสโต 3-4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือแค่ทรงตัว

นอกจากนี้ ในส่วนของธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อย่างธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และธนาคารทิสโก้ (TISCO) อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัว 5% YOY หลังยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ก.พ. 63 ชะลอตัวลง 12.7% YOY และยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งปี มีแนวโน้มลดลงราว 11% YOY

2.ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) อยู่บนสมมุติฐานที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ย 0.5% ในปี 2563 โดยการลดดอกเบี้ยทุก ๆ 25 bps จะกระทบกำไรกลุ่มราว 5% 3.การเพิ่มค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้ (ECL) ของกลุ่มประมาณ 10 bps และ 4.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังคงเดิม

นายเทิดศักดิ์กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉิน 0.25% สู่ระดับ 0.75% และมีแนวโน้มที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในวันที่ 25 มี.ค. จะส่งผลต่อตลาดเงินกู้ระหว่างธนาคาร (interbank) ซึ่งจะเป็นลบต่อธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินให้กู้ยืมสิทธิ (net lender) ในตลาด interbank อย่าง BBL มากที่สุด

นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MRR หรือ MOR ตรงข้ามกับต้นทุนเงินฝากที่ต้องใช้เวลาในการปรับลง โดยจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ จะส่งผลต่อ NIM ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างสินเชื่อลอยตัวประมาณ 60% ยกเว้นธนาคารกรุงศรี (BAY) และ SCB ที่มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยลอยตัวราว 50%

อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อย่าง TISCO และ KKP ได้เปรียบในสภาวะดอกเบี้ยขาลง เนื่องจากสัดส่วนรายได้เป็นดอกเบี้ยคงที่ราว 85% และ 61% ตามลำดับ

นายเทิดศักดิ์กล่าวอีกว่า คำแนะนำลงทุนในกลุ่มธนาคาร ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนัก “น้อยกว่าตลาด (underweight) แม้ราคาหุ้นจะปรับฐานจนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) กลุ่มปรับลดลงมาซื้อขายที่ 0.43 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปีที่ 1.36 เท่า เนื่องจากให้น้ำหนักกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอและยังมีความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด “BBL น่าสนใจ เพราะมีสำรองสูงสุดในกลุ่ม รวมถึงมีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV) และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) อยู่ที่ 0.42 เท่า และ 6.5 เท่า ตามลำดับ หรือต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดังนั้น อาจหาจังหวะลงทุนรับปันผลงวดครึ่งปีหลังของปี 2562 ที่ 5 บาท/หุ้น (ขึ้นเครื่องหมายไม่จ่ายปันผลหรือ XD วันที่ 21 เม.ย. 63) คิดเป็นอัตราเงินปันผล (dividend yield) ราว 5% ส่วนทั้งปี 2563 คาดจ่ายราว 6%” นายเทิดศักดิ์กล่าว

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.50% และจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MRR หรือ MOR อีกครั้ง หลังจากธนาคารพาณิชย์บางแห่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตาม กนง.ไปแล้วครั้งหนึ่ง

“เรามีมุมมองเป็นลบต่อกลุ่มธนาคาร เนื่องจากสารพัดปัจจัยลบ ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้การเติบโตของสินเชื่อลดลง NIM ลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่สูงขึ้นจากคุณภาพสินเชื่อที่ถดถอยลง และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงจากค่าธรรมเนียมสินเชื่อที่ลดลง รวมถึงยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากเกณฑ์ใหม่ของ ธปท.ในการควบคุมรายได้ค่าธรรมเนียมอีกด้วย”
นายภาสกรกล่าว