แบงก์เตรียมปรับลดดอกเบี้ยบ้านตาม กนง. “ซีไอเอ็มบี ไทย” ประเมินไตรมาสแรกยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ฮวบ เหตุเศรษฐกิจชะลอ-พิษ “โควิด” ทุบกำลังซื้อ เก็ง กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% หนุนดอกเบี้ยบ้านในตลาดลงตาม ฟาก “กรุงศรี” คาดปีนี้สินเชื่อบ้านทั้งระบบหดตัวไม่ต่ำกว่า -10% ปรับกลยุทธ์เน้นจับมือดีเวลอปเปอร์ที่มียอด “โอนจริง” ด้าน “กสิกรไทย” เผย 2 เดือนแรกยอดขายบ้านใหม่วูบ 20% ส่วนสินเชื่อยังโตได้
นางสาว
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ธุรกิจรายย่อย และยุทธศาสตร์การตัดสินใจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในระยะข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีโอกาสปรับลดลงได้อีก หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค. หลังจากก่อนหน้านี้ กนง.ได้ประชุมรอบพิเศษ และปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว 0.25% ซึ่งธนาคารต่าง ๆ ก็จะทบทวนดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ โดยพิจารณาจากต้นทุนทางการเงิน สภาพคล่อง และกลไกการแข่งขันในตลาด
“กนง.เพิ่งลดไป 0.25% และคาดว่าจะลดอีก 0.25% จึงมีความเป็นไปได้ที่เทรนด์ดอกเบี้ยบ้านในตลาดจะลงตาม เพราะหากลูกค้าจ่ายดอกเบี้ยถูกลงก็เป็นจังหวะโอกาสที่คนมีความพร้อมจะซื้อบ้านได้ หรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ก็จะจัดโครงการพิเศษร่วมกับแบงก์ เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังมีซัพพลายค่อนข้างมาก ก็เป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง แต่การพิจารณาของแบงก์เชื่อว่ายังคงเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) เพื่อให้ลูกค้ามีเงินเหลือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน” นางสาวอรอนงค์กล่าว
โดยที่ผ่านมา จะเห็นแบงก์กับดีเวลอปเปอร์ร่วมมือกันจัดทำโครงการพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง เนื่องจากต้นทุนการเงินถูกลง และดีเวลอปเปอร์ต้องการระบายสต๊อก นางสาวอรอนงค์กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของธนาคารทั้งในส่วนของสินเชื่อปล่อยใหม่และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วง 3 ปีแรกจะคิดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.75% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้และมีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป โดยให้วงเงินต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ไม่เกิน 80% เป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจจะซื้อเนื่องจากจะต้องวางเงินดาวน์ 20%
“การปล่อยสินเชื่อช่วง 1-2 เดือนแรกปีนี้ถือว่ายังขยายตัวได้ แต่ไม่หวือหวา เฉลี่ยอยู่ที่ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อเดือน ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ปล่อยได้ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจบไตรมาสแรกยอดจะอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากลากยาวจะยิ่งกระทบต่อรายได้ในการผ่อนชำระของลูกค้า” นางสาวอรอนงค์กล่าว
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ย 3 ปีแรกจะอยู่ที่ 2.75-2.89% จากก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ราว 3% อย่างไรก็ดี แม้อัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลง แต่เชื่อว่าการเติบโตของสินเชื่อปล่อยใหม่คงไม่สูงมาก เนื่องจากปัจจุบันสภาวะตลาดชะลอตัวจากปัจจัยเศรษฐกิจและความกังวลเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนตัดสินใจซื้อบ้านน้อยลง เพราะรายได้ที่ไม่แน่นอน สอดคล้องกับภาวะตลาดสินเชื่อบ้านปีนี้ที่คาดว่าการเติบโตทั้งปีจะหดตัวมากกว่า 10%
นายณัฐพลกล่าวอีกว่า แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกของธนาคารกรุงศรีน่าจะเติบโตติดลบ แต่ก็สอดคล้องกับภาวะตลาดเนื่องจากความต้องการอ่อนแอลง ไม่มีมาตรการมาช่วยอุดหนุนเหมือนปีก่อน สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกลยุทธ์ปีนี้ธนาคารจะไม่เน้นเติบโตมาก แต่จะกลับมาทำตลาดเชิงรุกหากตลาดกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอย่างใกล้ชิด
ในกลุ่มที่มียอดการโอนจริง
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยในช่วง 3 ปีแรกของกสิกรไทยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.5-4% ถือว่าเหมาะสมเนื่องจากหากดอกเบี้ยต่ำมากจนเกินไปจะไม่คุ้มต้นทุนการดำเนินการของธนาคารที่อยู่ที่เฉลี่ยกว่า 1% อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 เดือนแรกสินเชื่อปล่อยใหม่ยังคงขยายตัวได้สวนทางกับยอดขายบ้านใหม่ที่ตกลงราว 20%