เปิดกลไก “พิเศษ” ธปท. อุ้มตลาดบอนด์ลดแพนิก

ตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) ของไทยเผชิญความปั่นป่วนอย่างหนักในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่นักลงทุนแห่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ หันไป “กอดเงินสด” ตามเทรนด์เดียวกับนักลงทุนทั่วโลก จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ของไทยที่เคยลดลงไปต่ำเป็นประวัติการณ์ เด้งกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว กดราคาบอนด์ตกฮวบ เป็นเอฟเฟ็กต์ทำให้มูลค่าของกองทุนรวม (NAV) ลดลงไป

โดยช่วงแรก ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติเทขายบอนด์ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้วิธีการเข้าอัดฉีดเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรภาครัฐ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอดการเข้าซื้อบอนด์ ตั้งแต่ 13-19 มี.ค. 2563 อยู่ที่กว่า 100,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักลงทุนไทยแห่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนกันไม่หยุด ทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางแห่ง ต้องออกมาประกาศ “ไม่ขาย ไม่รับซื้อคืน หรือไม่รับสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน” สำหรับบางกองทุนที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ระดับ “investment grade” แต่ต่อมาก็ได้ยกเลิกประกาศดังกล่าวไป

จากนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านตลาดเงินตลาดทุน ในวันเสาร์ที่ 21 มี.ค. และในวันอาทิตย์ที่ 22 มี.ค. กระทรวงการคลัง พร้อมด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ก็มีการแถลงข่าวร่วมกัน

โดย นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ประกาศมาตรการลดความกังวลของผู้ถือหน่วยลงทุน 3 ส่วน คือ 1. “กองทุนรวมตราสารหนี้” ซึ่ง ธปท.จะจัดตั้ง “กลไกพิเศษ” เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ ให้ธนาคารสามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (money market fund : MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (daily fixed income fund : Daily FI) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่อาจจะได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง และสามารถนำหน่วยลงทุนมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้

“ประมาณการเบื้องต้นพบว่า มีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท” นายวิรไทกล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องจะให้ผ่านสถาบันการเงินใน 2 รูปแบบ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบ 0.5% ต่อปี ได้แก่ 1.สถาบันการเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนของ MMF และ Daily FI ที่เข้าเกณฑ์ สามารถนำหน่วยลงทุนมาใช้เป็นหลักประกันขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ และ 2.สถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือกองทุนรวม MMF และ Daily FI ผ่านธุรกรรม repo สามารถนำสินทรัพย์ตามเงื่อนไข มาใช้เป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้

2.”ตราสารหนี้ภาคเอกชน” (หุ้นกู้) ที่ครบกำหนด จะมีการจัดตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” วงเงิน 70,000-100,000 ล้านบาท ร่วมกันระหว่างสมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อเข้าไปซื้อหุ้นกู้ส่วนที่ภาคเอกชนมีการออกมา rollover แต่ขายไม่หมด

“กองทุนนี้จะทำหน้าที่ top up หากมีหุ้นกู้ครบกำหนด แล้วไประดมทุนในตลาด แต่ไม่ครบตามจำนวน เช่น หุ้นกู้ครบ 1,000 ล้านบาท แต่ระดมทุนได้ 800 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็ใช้กองทุนนี้ โดยหุ้นกู้ที่จะนำมาจะต้องเป็นหุ้นกู้ระยะสั้นไม่เกิน 270 วัน” นายวิรไทกล่าว

และ 3.”ตราสารหนี้ภาครัฐ” ซึ่ง ธปท.จะเข้าดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ต้นสัปดาห์นี้ (23-24 มี.ค.) เมื่อนักลงทุนเลิกตื่นตระหนก ไม่มีคนเทขายหน่วยลงทุน NAV จึงไม่ลดลงอีก ทำให้ตลาดบอนด์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

“ตอนนี้สถานการณ์ปกติแล้ว โดย ณ 23 มี.ค. บอนด์ยีลด์อายุ 2 ปี ลดลงไป 25 bps ส่วนอายุ 10 ปี ลดลงไป 24 bps ซึ่งในวันดังกล่าว กองทุนรวมมีการซื้อสุทธิประมาณ 1,300 ล้านบาท” นายธาดากล่าว

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า การเร่งไถ่ถอนที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่นักลงทุนมีการเทขายหน่วยลงทุนออกมา แต่ในส่วนของมาตรการที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลืออาจจะแตกต่างกันไป

“ครั้งนี้มาตรการเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นได้ดีกว่าครั้งก่อนที่เป็นเพียงการเสริมสภาพคล่องให้ บลจ. โดยให้ทำธุรกรรมขายคืนได้ และไม่ได้มีวงเงินที่พร้อมช่วยเหลืออย่างชัดเจน เหมือนที่แบงก์ชาติประกาศรอบนี้ ดังนั้น คราวนี้ทุกอย่างอาจจะจบเร็ว โดยที่แบงก์ชาติอาจจะไม่ต้องใช้เม็ดเงินเลยก็ได้” นางสาวอริยากล่าว

การเตรียมพร้อมมาตรการรับมือไว้ น่าจะช่วยลดแพนิกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตลงได้ เพราะในภาวะวิกฤตเช่นนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้