ธปท.เร่งดึงธุรกิจใช้ “e-LG” ครึ่งปีธุรกรรม 1.5 หมื่นล้าน

ธปท.เผยครึ่งปีหลังเปิดให้ใช้หนังสือค้ำประกันผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ e-LG มียอดธุรกรรมอยู่ที่ 5 พันรายการ วงเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เตรียมดึงผู้ใช้งาน ทั้งเอกชนรายใหญ่-เอสเอ็มอี-หน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมระบบ “กรุงศรีฯ” ประเมินปี’63 ธุรกรรมภาพรวมน่าจะพุ่งแตะ 8 หมื่นรายการ ฟาก “กสิกรไทย” มั่นใจช่วยลดต้นทุนทั้งของแบงก์-ลูกค้า

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (e-LG) บนแพลตฟอร์มภายใต้บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) หรือ BCI ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการตอนกลางปี 2562 จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2562 มีทั้งสิ้นประมาณ 5,000 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) รวมทั้งสิ้น 18 ราย อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอยู่ในแซนด์บอกซ์ของ ธปท. ในจำนวนนี้ประมาณ 8 ราย ที่มีระบบเป็นของตัวเองและจะใช้ภายในเครือของธนาคารตัวเอง เรียกว่า “private” และอีก 10 แห่ง จะเป็นแบบ “common” ซึ่งจะเป็นธนาคารขนาดเล็ก-ขนาดกลางที่มีปริมาณธุรกรรม L/G ไม่มาก โดยจะร่วมกันพัฒนาระบบและใช้ร่วมกัน อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ระบบจะวิ่งอยู่บนเครือข่ายเดียวกันทั้งหมด

นอกจากนี้ ธปท.อยู่ระหว่างทยอยนำภาคธุรกิจผู้รับประโยชน์จาก L/G เข้ามาอยู่ในระบบ เช่น ปตท., SCG, IRPC เป็นต้น โดยกลุ่มภาคธุรกิจเหล่านี้เป็นผู้ใช้บริการ หากมีโครงการลงทุนก็จะต้องมาขอให้ธนาคารออก L/G ให้ ดังนั้น หากมีภาคธุรกิจเข้ามาอยู่ในระบบได้มากขึ้น คาดว่าปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้น สามารถลดต้นทุนการจัดการ L/G ทั้งการเก็บ ขนส่ง ตรวจสอบ และการแก้ไขจะทำได้ง่ายขึ้น

“ตอนนี้แบงก์น่าจะเข้าแซนด์บอกซ์ครบหมดแล้ว ส่วนแบงก์รัฐก็ทยอยเข้ามา โดยหลังจากนี้จะทยอยให้ภาคธุรกิจ หรือเอกชนรายใหญ่ ๆ เข้ามาทดสอบ เพราะภาคธุรกิจเป็นผู้ใช้ หากทำเป็นระบบในอนาคตทุกอย่างจะเป็นดิจิทัลทั้งหมด” นางสาวสิริธิดากล่าว

รายงานจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาแจ้งว่า ได้มีการประเมินว่าในปี 2563 ปริมาณธุรกรรม e-LG ในภาพรวมจะทยอยเพิ่มขึ้น โดยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นรายการ ซึ่งตามแผนของ ธปท.จะให้ผู้รับผลประโยชน์ทุกรายมาอยู่ในระบบนิเวศ (ecosystem) เดียวกันบนแพลตฟอร์มของ BCI โดยมีเป้าหมายที่จะเชิญเอกชนรายใหญ่ เอสเอ็มอี และหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่รับหนังสือค้ำประกันของทุกธนาคารมาใช้งานแพลตฟอร์ม ผ่านผู้ให้บริการที่ปัจจุบันมีอยู่ 22 ธนาคาร และจะเพิ่มเป็น 24 ธนาคารต่อไป


นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างทยอยนำลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นระบบการออก e-LG โดยคาดว่าลูกค้าจะหันมาใช้ทดแทนการออกหนังสือค้ำประกันในรูปแบบเดิมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนให้ธนาคารและลูกค้า อย่างไรก็ดี ในแง่ปริมาณธุรกรรมขณะนี้ยังมีไม่มาก เมื่อเทียบกับมูลค่าที่มีการใช้ L/G ทั้งหมด