เจาะหุ้นรับอานิสงส์ “SSF พิเศษ” โบรกเก็ง บลจ.เน้นลงทุน “บลูชิพ” 5 กลุ่มเด่น

1 เม.ย. 13 บลจ.เริ่มเสนอขาย “SSF กองพิเศษ” โบรกส่องหุ้นบลูชิพรับอานิสงส์ “บล.ทิสโก้” ชูหลักทรัพย์ 6 บจ.โดดเด่น ด้าน “บล.ทรีนีตี้” โฟกัส 5 กลุ่มหุ้นได้ประโยชน์ ฟากนายกสมาคม บลจ.ปักธงช่วง 3 เดือนมีเงินไหลเข้าลงทุน 6 หมื่นล้านบาท ด้าน ก.ล.ต.ไฟเขียว เสนอขายได้แล้ว 17 กอง

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 1 เม.ย. จะเริ่มมีการเสนอขายกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองพิเศษ ที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ซึ่งคล้ายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในอดีต โดยคาดว่า บลจ. จะเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ (บลูชิพ) ซึ่งมีหลายตัวที่น่าจะเป็นเป้าหมาย อาทิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่แม้ว่าช่วงนี้จะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่ระยะยาวยังน่าสนใจเพราะมีอำนาจการผูกขาดสนามบิน

ต่อมา บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายมากที่สุด, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่มีระบบรถไฟฟ้าเส้นหลักและมีเส้นทางต่อขยายในอนาคต ซึ่งสายสีชมพูและสายสีเหลือง ก็น่าจะได้เดินรถทำให้ธุรกิจยังสามารถเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าช่วงนี้จะได้รับผลกระทบจากการปิด/ระงับการสัญจร แต่น่าจะกระทบแค่ชั่วคราว มองระยะยาวเป็นหุ้นที่เติบโตตามชีวิตคนเมือง, บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่เป็นบริษัทค้าปลีกอันดับ 1 ของประเทศ, บมจ.ปตท. (PTT) ที่เป็นหุ้นที่มีมูลค่า (มาร์เก็ตแคป) ขนาดใหญ่ มีธุรกิจปั๊มน้ำมันและอื่น ๆ และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่เป็นธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจปิโตรเคมีรายใหญ่

“การเลือกหุ้นบลูชิพแต่ละตัวขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน โดยปกติจะใช้การอ้างอิง (benchmark) ของอุตสาหกรรมนั้น ๆ เป็นมาตรฐานว่าน้ำหนักเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของมาร์เก็ตแคป และชอบเซ็กเตอร์นั้นแค่ไหน ถ้ามากก็อาจจะเพิ่มน้ำหนักมากกว่าตัว benchmark ได้”

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ในมุมมองนักลงทุนสถาบัน คงเลือกลงทุนหุ้นเป้าหมายสำหรับกองทุน SSF กองพิเศษที่ปลอดภัยจาก 3 ปัจจัยแวดล้อมที่ยังมีความผันผวนสูง ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ราคาน้ำมันที่ยังคาดเดาได้ยาก และวิกฤตภัยแล้ง ซึ่งบริษัทประเมินหุ้น 5 กลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์ (ดูตาราง) ได้แก่ 1.หุ้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน และได้ประโยชน์จากการกักตัว และมาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าของภาครัฐที่ออกมา 2.หุ้นสื่อสารที่มีเงินปันผลสูง และได้ประโยชน์จากปริมาณการใช้ดาต้าที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน (work from home) 3.หุ้นโรงไฟฟ้า ที่การประเมินมูลค่า (valuation) เริ่มลดความร้อนแรงลงแล้ว และโรงไฟฟ้ายังน่าสนใจจากฐานรายได้ที่สม่ำเสมอในสภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ในตลาดต่ำต่อเนื่อง

4.หุ้นธุรกิจบริหารสินทรัพย์และหนี้ ซึ่งภาวะดอกเบี้ยขาลงจะทำให้ต้นทุนการเงินถูกลง และเศรษฐกิจขาลงโอกาสหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ 5.ธุรกิจอาหารที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า และการบริโภคเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น ทำให้กำไร (earning) ปีนี้น่าจะพลิกฟื้น (turnaround) ได้ต่อเนื่อง

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 13 ราย จะเริ่มเสนอขาย SSF ทั้งกองปกติและกองพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป โดยคาดหวังว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้า SSF กองพิเศษที่มีเงื่อนไขลงทุนช่วง 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 2563) จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีก 2 แสนบาท น่าจะอยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาวะแวดล้อมขณะนี้สิ่งที่นักลงทุนต้องทำอย่างแรก คือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีก่อน

“มีเวลาพิจารณาถึง 3 เดือน สามารถค่อย ๆ ทยอยเข้าซื้อเพื่อวางแผนการเงินให้รัดกุม โดยเราไม่ได้กลัวว่า เปิดขายแล้วจะมีเม็ดเงินเข้ามาหรูหราฟู่ฟ่าเหมือนในอดีตไหม เพราะหากมีเม็ดเงินเข้ามาน้อยและไม่ช่วยหนุนตลาดหุ้นมากนัก โอกาสในการขยายเวลาออกไปก็เป็นไปได้ตามที่ รมว.คลังได้กล่าวไว้ ซึ่งคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์” นายวศินกล่าว

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน (กองพิเศษ) ไปแล้ว 17 กองทุน จาก บลจ.จำนวน 13 แห่ง (ณ 30 มี.ค. 2563)