ค่าเงินบาท​อ่อน​ค่า​ 33.09 บาท/ดอลลาร์​ จากต้นปีอ่อนค่าแล้ว​ 9.5% ผันผวนพุ่ง​ 7%

ภาพ: Paula Bronstein/Getty Images

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ เปิดเผย​ว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (2​ เม.ย.)​ ที่ระดับ 33.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดย​กรอบเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหว​ระหว่าง​ 32.95-33.20 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

ทั้งนี้​ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ดัชนีตลาด​หุ้น​ S&P500 ปรับตัวลง 4.4% พร้อมกับอัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปรับลดลง 9.3bps มาที่ 0.58% ใกล้เคียงระดับต่ำสุดในประวัติการณ์​ที่เคยทำไว้ในวันที่ 9 มีนาคม 2563 ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน (3.5%) และทองคำ (0.9%)

ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ก็อยู่ในภาวะเปราะบาง ล่าสุดการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment) ปรับตัวลดลง 2.7 หมื่นตำแหน่ง ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ก็ปรับตัวลงสู่ภาวะทดถอย ด้วยแรงกดดันจากการสั่งซื้อสินค้า และราคาสินค้าที่ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (Initial Jobless Claims) ก็ยังเพิ่มขึ้นในระดับสูงที่ 3.7 ล้านตำแหน่ง ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนผู้รับสวัสดิการต่อเนื่องอาจพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 8 ล้านตำแหน่งในสัปดาห์หน้า คิดเป็นการว่างานชั่วคราวถึง 15% ซึ่งมากกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551

ส่วนในฝั่งของตลาดเงินพบว่าดัชนีดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 98-100จุด เพราะแม้ภาพความเสี่ยงในตลาดทุนที่สูงขึ้นจะหนุนให้เงินเยน (JPY) แข็งค่า แต่การระบาดของไวรัสในฝั่งยุโรป กลับมาเป็นปัจจัยกดดันให้บอนด์ยีลด์อิตาลีปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับยีลด์เยอรมัน กดดันให้เงินยูโร (EUR) ที่คิดเป็นกว่า 56% ของดัชนีอ่อนค่าลง

ฝั่งเงินบาท แม้จะไม่ใช่สมรภูมิหลักของตลาดการเงินในรอบนี้ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วทั้งโลกเช่นเดียวกัน จากต้นปีมาจนถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าไปแล้วถึง 9.5% ขณะที่ความผันผวนก็ขยับขึ้นมาที่ระดับ 7% จากช่วงต้นปีที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 4%

“มองว่าจุดต่อไปที่ต้องจับตานอกจากทิศทางของตลาดทุน ก็คือแนวโน้มการระบาดของไวรัสในฝั่งตะวันตกที่ต้องเทียบรายวันว่าระหว่างอเมริกาและยุโรป ฝั่งไหนจะควบคุมการระบาดได้ก่อนกัน ขณะที่ในระยะยาว จุดที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือทิศทางของราคาน้ำมัน ถ้ายังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องแม้ดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ก็อาจจะไม่เห็นการแข็งค่าของสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) กลับมาในอนาคต”  ด​ร.จิ​ติ​พล​กล่าว​