ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในฐานะสกุลเงินที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 2 เมษายน  2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/4) ที่ระดับ 33.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (1/4) ที่ระดับ 32.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในขณะที่นักลงทุนคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยได้รับแรงกดดันจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา อีกครั้ง นักลงทุนต้องการซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินที่สภาพคล่องสูงที่สุด ขณะเดียวกันนักลงทุนรู้สึกกังวล หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐกล่าวเตือนชาวสหรัฐว่า ช่วงเวลาสองสัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่ “เจ็บปวด” ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนา ถึงแม้มีการดำเนินมาตรการระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด

ในขณะที่นางเดบอราห์ เบิร์กซ์ ผู้ประสานงานด้านเชื้อไวรัสโคโรนาประจำทำเนียบขาวระบุว่า มีการคาดการณ์กันว่า ถ้าหากชาวสหรัฐปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐก็จะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 100,000-240,000 รายในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ถ้าหากไม่มีมาตรการควบคุมโรค ยอดผู้เสียชีวิตก็อาจจะพุ่งขึ้นสู่ 2.2 ล้านราย นอกจากนี้สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ดัชนีกิจกรรมภาคโรงงานของสหรัฐ ปรับตัวลงจาก 50.1 ในเดือน ก.พ. สู่ 49.1 ในเดือน มี.ค. แต่อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 45.0

อย่างไรก็ดี ดัชนียอดสั่งซื้อใหม่ในภาคโรงงานปรับลงจาก 49.8 ในเดือน ก.พ. สู่ 42.2 ในเดือน มี.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2009 หรือจุดต่ำสุดในรอบ 1 ปี ทั้งนี้ นายอาร์เทอร์ บาลูซินสกี หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัทแฮนเดอร์สัน โรว์ คาดว่าดัชนียอดสั่งซื้อจะเริ่มส่งผลกระทบไปถึงดัชนีกิจกรรมภาคโรงงานในเดือนหน้า นอกจากนี้สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 13.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้นักลงทุนจับตารายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มี.ค.ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ (3/4) ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะลดลง 100,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 2 เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อใหม่ 104 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,875 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.95-33.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.99/33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/4) ที่ระดับ 1.0944/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/4) ที่ระดับ 1.0933/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันหลังจากการเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของทางยูโรโซน โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 44.5 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 92 เดือน จากระดับ 49.2 ในเดือน ก.พ. โดยดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัวในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14

อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานเดือน ก.พ.ในยูโรโซน อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการประกาศใช้มาตรการสกัดไวรัสทั่วยุโรป 1 เดือน ซึ่งอัตราการว่างงานเดือน ก.พ.ในยูโรโซน 19 ประเทศ ลดลงสู่ระดับ 7.3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2551 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับเดือน ม.ค. ที่ 7.4% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0912-1.0964 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0932/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/4) ที่ระดับ 107.51/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/4) ที่ระดับ 1.7.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน ถือเป็นวันเริ่มต้นปีธุรกิจใหม่ของญี่ปุ่น อีกทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีการเปิดเผยตัวเลขความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงสู่ระดับติดลบในไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 1 ลดลงสู่ระดับ -8 จากระดับ 0 ในไตรมาส 4/2562 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 5 ไตรมาส

ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลล์สำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 1 จะอยู่ที่ระดับ 10 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิต ซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น ลดลงแตะระดับ 8 ในไตรมาส 1/2563 จากระดับ 20 ในไตรมาส 4/2562 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.03-107.56 เยน/ดดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.29/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน รวมถึงตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ในวันศุกร์ (3/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.0/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรับ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.0/+4.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ