ด่วน! ชงกู้เงิน​ 1​ ล้าน​ล้าน​ รับมือ-เยียวยา “โควิด” นานปีครึ่ง

“สมคิด​-อุตตม” ชง​ พ.รก.กู้​ 1​ ล้านล้าน​บาท ดูแลระบบ ​”สาธารณ​สุข” สู้โควิด-19​ พร้อม​เยียวยา​ผู้เดือดร้อน​-ฟื้นเศรษฐกิจยาว​ 1​ ปีครึ่ง​ แลกระดับหนี้สาธารณะ​ใกล้ชนกรอบความยั่งยืน​ 60%

แหล่งข่าว​จากกระทรวง​การคลัง​ เปิดเผย​ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า​ วันนี้​ (3​ เม.ย.)​ เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ) เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

โดย​ในการประชุม​วันนี้​ กระทรวง​การคลัง​จะเสนอให้ที่ประชุม​พิจารณา​การออกพระราช​กำหนด​ (พ.ร.ก.)​ กู้เงิน​ วงเงินราว​ ๆ​ 1​ ล้านล้านบาท​ เพื่อใช้ดูแลเยียวยา​ผลกระทบ​ และฟื้นฟู​เศรษฐกิจ​และสังค​มที่ได้รับผลกระทบ​จากโควิด-19​ ในระยะ​ 1​ ปีครึ่งข้างหน้า​นี้

“เรื่องขนาดวงเงิน​ คงต้องคุยใน​ ครม.อีกที​ ซึ่งก็ต้องมีขนาดใหญ่​ เพราะผลกระทบครั้งนี้มีมาก​ GDP​ ก็จะหายไปเยอะ​ โดยการดูแลผลกระทบ​ก็ต้องช่วยทั้งด้านสาธารณสุข​ สนับสนุนการจัดซื้อ​อุปกรณ์​การแพทย์​ที่จำเป็น​ และการฟื้นฟู​เศรษฐกิจ​หลังการระบาด​ ซึ่ง​ต้องดูแลให้ครอบคลุม​ทุกกลุ่ม​ ทั้งประชาชน​และภาคธุรกิจ​” แหล่งข่าว​กล่าว

แหล่งข่าว​กล่าวด้วยว่า​ หาก​ ครม.สรุปการกู้เงิน​ออกมาในระดับที่วางไว้​ อาจจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะ​เพิ่มขึ้นจาก​ 41-42% ของ​ GDP​ ในปัจจุบั​นไปอยู่ระดับเกือบ​ 60% ที่เป็นกรอบความยั่งยืน​ตามกฎหมาย​วินัยการคลัง​ แต่ก็ถือว่ายังต่ำกว่าหลาย​ ๆ ประเทศที่สูงมากกว่า​ 100% และมีความจำเป็นต้อง​ดำเนินการ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลัง​ประชุม​กับหน่วยงาน​ด้านการเงิน​การคลัง​เมื่อ​ 2​ เม.ย.​ ว่า กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เตรียมการออกมาตรการชุดที่ 3 เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ​ 3 เม.ย.นี้ เพื่อเสนอ​ให้ที่ประชุมรับทราบถึงแนวทางในการออกชุดมาตรการ งบประมาณที่จะต้องใช้ รวมถึงที่มาของงบประมาณด้วย ซึ่งอาจจะมีทั้งการออก พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ และหากมีการอนุมัติ จะนำเสนอเข้าสู่ ครม.ในสัปดาห์หน้า (7 เม.ย.) ต่อไป

สำหรับมาตรการดังกล่าว จะออกมาดูแลและเยียวยาความเสียหายของประชาชนทุกภาคส่วนได้อีก 6 เดือน คลอบคลุมทั้งภาคประชาชนที่ยังได้รับความเดือดร้อน และต้องมีการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม กลุ่มผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจและเกิดการจ้างงานต่อไปได้ และจะมีการดูแลกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งดูแลเสถียรภาพของตลาดเงินตลาดทุนไม่ให้เกิดความเสียหายด้วย

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลดูแลอย่างครอบคลุม

ส่วน​นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว​ว่า มาตรการ​ที่จะเสนอ​ ครม.​วันนี้​จะเป็นมาตรการที่จะดูแลครอบคลุม ทั้งกลุ่มที่ต้องได้รับการเยียวยาต่อเนื่อง เกษตรกร ผู้ประกอบการ และกลุ่มตลาดเงินตลาดทุน โดยส่วนหนึ่ง​จะมีการแจกเงินต่อไป เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มใดบ้าง และยังไม่สามารถระบุจำนวนงบประมาณที่จะต้องใช้ได้

“ที่มาของจำนวนเงินและแหล่งทุนก็จะพิจารณาประกอบกับขนาดของชุดมาตรการ อย่างไรก็ดี ในบางส่วนสำนักงบประมาณก็เป็นผู้ดูแลหาเงินทุน อาจจะใช้วิธีที่จะปรับงบประมาณปี 2563 ของหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่ให้กระทบเงินเดือนประจำ ขณะที่การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ยังระบุจำนวนเงินไม่ได้” นายอุตตมกล่าว

ทั้งนี้ ชุดมาตรการดังกล่าวจะดูแลครอบคลุมปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งการจับจ่ายใช้สอย ผู้ประกอบการที่มีรายได้ลดและต้องลดรายจ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกจ้างและพนักงาน พร้อมกันนี้ จะมีการดูแลระบบเศรษฐกิจให้การส่งผ่านเงินเกิดสภาพคล่องลื่นไหล ทั้งธนาคารพาณิชย์ ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงจะเข้าไปสนับสนุนให้ระดับฐานรากมีความเข้มแข็ง โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นมาตรการดังกล่าว จึงจะพยายามดูแลให้ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบเศรษฐกิจมีความมั่นคง และเพื่อให้ในอนาคตเศรษฐกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ให้สามารถเดินต่อไปได้