ศูนย์วิจัยพาเหรดหั่นจีดีพีปี 63 ติดลบแรง ชี้โควิด-19 ทุบเศรษฐกิจไทย-ทั่วโลกดิ่ง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ พาเหรดหั่นจีดีพีติดลบ หลัง กนง.ส่งสัญญาณตัวเลขจีดีพีดิ่งติดลบ 5.3% เผยไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรง ทุบส่งออก-การท่องเที่ยว-บริโภควูบ คาดจีดีพีไตรมาส 2 ดิ่งลึกสุด ด้านเศรษฐกิจโลกถดถอยเฉียบพลัน

หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีมติ 4 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไว้ที่ 0.75% แต่ กนง.ได้มีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 ติดลบ 5.3% จากเดิมที่มองขยายตัว 2.8% โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงและกระทบเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้การส่งออก การบริโภคได้รับผละทบ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีการหดตัวแรง โดย ธปท.คาดการณ์ว่าจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจ โดยจะเห็นว่าไตรมาสที่ 2 จะเป็นการหดตัวลึกที่สุด และการหดตัวจะดีขึ้นตามลำดับในไตรมาสที่ 3 และ 4 ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถควบคุมได้ และมีการผลิตวัคซีนได้ในปีนี้ จะเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และเศรษฐกิจมีโอกาสเป็นบวกได้ในปี 2564

ทั้งนี้ ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ ส่งผลให้สำนักวิจัยและศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจต่างๆ พากันออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยตามมาต่อเนื่อง โดยเริ่มจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรืออีไอซี ได้ปรับประมาณเติบโตเศรษฐกิจติดลบ 5.6% จากคาดการณ์เดิมให้ติดลบ 0.3% โดยมองว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบภาคการท่องเที่ยวให้ติดลบ 67% และยังมองว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยเฉียบพลัน

สอดคล้องกับ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตจีดีพีใหม่อยู่ที่ติดลบ 6.8% จากคาดการณ์เดิมติดลบ 2.4% โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้จากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 0.3% เป็นติดลบ 2.7%

ขณะที่สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับมุมมองจากขยายตัว 1.7% เป็นติดลบ 6.4% ซึ่งเป็นไปตามภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อไทยให้เศรษฐกิจจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายน่าจะเห็นเศรษฐไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตตามเศรษฐกิจโลก

เช่นเดียวกับ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือติดลบ 6.9% จากเดิมคาดว่าเศรษฐกิจจะโต 0.8% โดยประมาณการดังกล่าว อิงสมมติฐานหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน เหลือ 12 ล้านคน 2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิมที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 3) ภัยแล้งมีความรุนแรงยืดเยื้อจนถึงเดือนกันยายน จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่เดือนพฤษภาคม ซึ่งทำให้คาดว่าผลกระทบจากภัยแล้งจะกลายเป็น 0.7% ของจีดีพี จากเดิมคาดไว้ที่ 0.2% ของจีดีพี

และล่าสุด ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยปี 2563 คาดหดตัว 5.0% จากเดิมคาดว่าหดตัว 1.0% ซึ่งนับเป็นอัตราหดตัวที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2541 การปรับลดประมาณการในครั้งนี้สะท้อนจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี อยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการพิจารณาประมาณการอัตราการเติบโตจีดีพีอีกครั้งภายในเร็วๆ นี้