ประกันชีวิตอ่วมไวรัสเบี้ยหด 3% ดิ้นปรับวิธีขายแก้เกม “ช่องทางหลัก” เดี้ยง!

“โควิด-19” ทุบขายประกันชีวิตผ่าน “ตัวแทน-แบงก์” อ่วม ส่อฉุดเบี้ยปีนี้หดตัว 2-3% “สมาคมประกันชีวิตไทย” ประสาน คปภ. ผ่อนปรนเกณฑ์อนุญาตให้ขายแบบ “ไฮบริด” ผสมผสานออฟไลน์-ออนไลน์ “คุยลูกค้าผ่านโทรศัพท์-ส่งเอกสาร/เซ็นสัญญาผ่านอิเล็กทรอนิกส์” ฟาก “อลิอันซ์” ดิ้นปรับกรมธรรม์ประกันสะสมทรัพย์ขายผ่านแบงก์ไม่การันตี/ผลตอบแทน “ติดลบได้” เจรจา คปภ.ขอลดการันตีดอกเบี้ยขั้นต่ำ 1% ล่าสุดบอร์ด คปภ.ให้อำนาจสำนักงาน คปภ. ปรับวิธีการขายอำนวยความสะดวกลูกค้าช่วงไวรัสระบาดได้

แหล่งข่าวสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบต่อช่องทางขายประกันแบบ face-to-face โดยเฉพาะช่องทางตัวแทน และขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) ซึ่งเป็นช่องทางหลักของธุรกิจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ประกันที่ขายผ่าน 2 ช่องทางนี้ ไม่สามารถนำไปขายบนช่องทางออนไลน์ได้ เนื่องจากตามกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น ผลิตภัณฑ์ที่จะขายผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องเป็นสินค้าที่ได้รับการอนุมัติจาก คปภ.ให้ขายทางออนไลน์เท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางสมาคมได้เข้าหารือกับ คปภ. เพื่อหามาตรการยืดหยุุ่นให้ โดยอนุโลมให้สามารถบริการแบบไฮบริด (hybrid) คือ สามารถโทรศัพท์เข้าไปเสนอขาย หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับลูกค้าได้ รวมถึงการส่งเอกสารผ่านทางอีเมล์หรือแอปพลิเคชั่นไลน์ เนื่องจากกังวลว่าหากมีการปิดเมือง (lockdown) ตัวแทนประกันชีวิตและพนักงานแบงก์จะไม่สามารถเสนอขายประกันให้กับลูกค้าได้

นอกจากนี้ เพื่อลดความกังวลการทุจริตก็ให้ตัวแทนแสดงใบอนุญาตตัวแทนผ่านไลน์ เพื่อที่ประชาชนสามารถนำไปตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ คปภ.ได้ว่าเป็นตัวแทนจริงหรือไม่ และหากลูกค้าตกลงซื้อประกัน ก็ให้สามารถส่งข้อมูลกรมธรรม์ผ่านออนไลน์ และให้ลูกค้าลงนามแล้วถ่ายรูปส่งกลับมาอีกที

“ถ้าทำลักษณะนี้น่าจะช่วยให้ธุรกิจประกันรอดพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปได้ เพราะถ้าไม่รีบดำเนินการ ตัวแทนทั่วประเทศอาจจะโวยได้ ขณะที่สถานการณ์แบงก์แอสชัวรันซ์ก็น่าจะยังคงลำบากไปอีกนาน เพราะตอนนี้คนกลัวไวรัสเลี่ยงไม่ไปใช้บริการสาขาแบงก์ รวม ๆ แล้วต้นปีนี้เหนื่อย เพราะตอนแรกคาดว่าช่องทาง face-to-face จะเข้ามาพยุงยอดขายได้มาก แต่ตอนนี้ท่าทางจะไม่ไหว จึงประเมินว่าเบี้ยรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตปีนี้ อาจเป็นไปได้ว่าจะต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะทรงตัว 0% ลงมาติดลบที่ 2-3%” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจาก บมจ.อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต กล่าวว่า หลังจากปี 2562 ที่ผ่านมา เบี้ยรวมช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ของบริษัทผ่านธนาคารกรุงศรีอยุธยา อยู่ที่ 10,397 ล้านบาท ลดลงกว่า 10% แต่มาปี 2563 นี้ บริษัทได้ปรับขายโปรดักต์ที่ไม่ได้การันตีระดับสูง จึงไม่เจ็บตัวมาก รวมถึงขณะนี้ได้เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกขาย ผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ อาทิ ประกันสะสมทรัพย์และคุ้มครองชีวิต ที่ผลตอบแทนจะเป็นแบบมีโอกาสติดลบได้ ขึ้นอยู่กับผลการลงทุนของพอร์ต โดยอยู่ระหว่างหารือกับ คปภ. เพื่อขอลดการกำหนดการันตีดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ 1% ด้วย

นายไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต กล่าวว่า ปี 2563 นี้ บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับผ่านช่องทางตัวแทน 1.6 หมื่นล้านบาท มาจากเบี้ยรับปีแรก 2,900 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อน และเบี้ยรับผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ 9,500 ล้านบาท ซึ่งมาจากเบี้ยปีแรกใกล้เคียงปีที่แล้วที่อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท

ล่าสุด สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า บอร์ด คปภ. เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการประกันภัยเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยส่วนหนึ่งจะมีการออกประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้สำนักงาน คปภ. มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ การขายประกันที่แตกต่างกับหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในกรณีจำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเพิ่มเติม

รวมถึงจะออกประกาศผ่อนผันระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของบริษัทประกันภัย สำหรับปี 2563 ประกอบด้วย (1) เงินสมทบไตรมาส 1 จากเดิมครบกำหนดวันที่ 30 เม.ย. เป็น 30 มิ.ย. (2) เงินสมทบไตรมาส 2 จากเดิมครบกำหนดวันที่ 30 ก.ค. เป็น 30 ก.ย. (3) เงินสมทบไตรมาส 3 จากเดิมวันที่ 30 ต.ค. เป็น 30 ธ.ค.