กู้ 1.68 ล้านล้านสู้วิกฤตโควิด อุ้มธุรกิจ‘พักต้น-พักดอก’SME

ครม. “นัดพิเศษ” อนุมัติมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ กู้วิกฤตโควิด-19 เฟส 3 ชุดใหญ่ช่วยผู้เดือดร้อนทุกกลุ่ม ประชาชน-ธุรกิจ-สถาบันการเงิน โยก-โอนงบประมาณ และออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ผ่านแบงก์ชาติ-คลัง คาดใช้วงเงินใกล้ 10% ของจีดีพี หรือ 1.68 ล้านล้านบาท แบงก์ชาติเทหมดหน้าตักช่วยลีสซิ่งด้วย ปลดล็อกปล่อยซอฟต์โลนตราสารหนี้พยุงตลาดเงิน

วาระเพื่อพิจารณาในการประชุม “ครม.นัดพิเศษ” เต็มคณะ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม (3 เม.ย. 63) เห็นชอบหลักการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินทั้งสิ้น 3 ฉบับ ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2 ฉบับ และกระทรวงการคลัง 1 ฉบับ และการเกลี่ย-โอนวงเงินงบประมาณ 2563 ร้อยละ 10 จากทุกกระทรวง เพื่อเป็นมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ ภัยแล้ง และผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 ครอบคลุมประชาชน ธุรกิจและภาคการเงิน คาดว่าจะใช้วงเงินร้อยละ 10 ของจีดีพี หรือประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท

ไฟเขียว พ.ร.ก. 3 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติอนุมัติในหลักการพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน พ.ศ. …. จำนวน 3 ฉบับ แบ่งออกเป็น 1.พ.ร.ก.กู้เงินของกระทรวงการคลัง 1 ฉบับ และ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (soft loan) 2 ฉบับ พร้อมมาตรการเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 จำนวน 3 กลุ่ม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเสนอมาตรการเยียวยาระยะที่ 3 กระทรวงการคลัง ธปท.สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้เวลาพิจารณาพอสมควร เพราะเป็นมาตรการชุดใหญ่ ครอบคลุมทุกมิติในระยะเวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ดูแลเศรษฐกิจ 3 ชุด ได้แก่ กลุ่มที่ 1 มาตรการเยียวยาและดูแลประชาชนและธุรกิจ กลุ่มที่ 2 เพื่อดูแลให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุด

ชะงักช่วงเวลา 3-4 เดือนนี้ และกลุ่มที่ 3 ดูแลภาคเศรษฐกิจ การเงิน เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาภาคเศรษฐกิจจริง ย่อมไปเกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจการเงิน ขณะนี้รัฐบาลไม่มีปัญหา แต่ไม่ประมาท เพื่อให้ครอบคลุมภาคการเงินอย่างครบถ้วน

 

อุ้มประชาชน-ธุรกิจอยู่ได้ 3 เดือน

สมคิดกล่าวว่า “เป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกมิติ และท้ายที่สุด คือ การดูแลประชาชน โดยเสนอ ครม.เห็นชอบในหลักการ และกระทรวงการคลัง กับ ธปท.จะไปพิจารณากฎเกณฑ์รายละเอียด เนื่องจากบางส่วนมาจากงบประมาณและการกู้เงิน ถ้าทันจะนำเข้าสู่ ครม. วันอังคารที่ 7 เม.ย. 63”

นายสมคิดกล่าวว่า มาตรการทั้ง 3 กลุ่มเพื่อดูแลประชาชน และดูแลเศรษฐกิจใน 2-3 เดือนข้างหน้า ให้มีการไหลเวียน ไม่ใช่หยุดนิ่ง ซึ่งกระทรวงต่าง ๆ จะเข้ามามีส่วนร่วม และการรักษาระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้กลไกทุกอย่างเดินได้

 

ใช้เงินร้อยละ 10 ของจีดีพี

“วงเงินกู้ทั้งหมดใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ คือ ร้อยละ 10 ของจีดีพีปี”62 (1.68 ล้านล้านบาท) โดยมาจาก 10% ของก้อนงบประมาณของแต่ละกระทรวงที่สามารถตัดได้ เพราะบางส่วนเป็นเงินเดือน และงบฯที่ใช้ไปแล้วและจำเป็น ไม่แตะต้อง นายกรัฐมนตรีกำชับว่าให้ใช้ 10% โดยเฉลี่ย กระทรวงการคลังจะไปหารือใกล้ชิดกับสำนักงบประมาณ ที่เหลือจะมีการกู้ยืมโดยคลังเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ดูแลประชาชน ถ้างบประมาณปกติช่วยได้มากจะลดจำนวนการกู้เงินลงไป” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธปท.ไม่ใช่การกู้ยืมแต่เป็นการออก พ.ร.ก.เพื่อออก soft loan ได้ เพื่อดูแลระบบการเงินและผู้ประกอบการ ส่วนวงเงินเท่าไรต้องหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง

นายสมคิดย้ำว่า เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และภาคธุรกิจเพื่อก้าวข้ามวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ เศรษฐกิจจริงควบคู่การเงินเสมอ เพราะฉะนั้น ต้องไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้า เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย

 

หั่นงบฯ 10% อุ้ม ศก.-ชุมชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการเยียวยากลุ่มที่ 1 ประชาชนจะดูแลเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการดูแล และดูแลต่อสำหรับผู้ประกอบการ ลูกจ้างทั้งในระบบและนอกระบบประกันสังคม และลดภาระการผ่อนสินเชื่อเพิ่มเติม นอกเหนือจาก ธปท. ในส่วนของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หวังผลให้ไปถึงประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการดูแล

กลุ่มที่ 2 การดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงงบประมาณทางการแพทย์เพื่อสู้กับโควิด-19 และการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ (local economy) เพื่อดูแลทันทีและสร้างทักษะใหม่ในพื้นที่ ในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและประเทศไปพร้อมกัน รวมถึงการลงทุนภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศ และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการ ภาระใหญ่ คือ การกู้ยืม สภาพคล่อง โดยมีมาตรการชุดออกมาเพิ่มเติม

นายอุตตมกล่าวว่า “พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงินร้อยละ 10 ต่อจีดีพี ไม่ใช่เป็นการกู้ทั้งหมด ทั้งนี้ การตัดงบประมาณปกติ 10% คือ 10% ของงบประมาณที่สามารถตัดได้ ไม่ใช่ทั้งหมดของก้อนงบประมาณที่จัดสรรไป ถ้าหากวงเงินงบประมาณตัดมาได้เพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องกู้เต็มเพดาน”

 

ธปท.เทหมดหน้าตักช่วยลีสซิ่ง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และมีแนวโน้มขยายมากขึ้น ดังนั้นเพื่อขยายมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ การพักเงินต้น-ดอกเบี้ยให้ใหญ่ขึ้น และครอบคลุมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องใหม่ เพื่อดูแลลูกจ้าง และให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามวิกฤตไปให้ได้

“ธปท.เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบหลักการออก พ.ร.ก.ให้ ธปท.จัดทำ soft loan โดยตรงได้ด้วยเงินของ ธปท. แต่ไม่ใช่การกู้เงิน คล้ายกับที่เคยทำเมื่อปี 2555เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ ซึ่ง ครม.อนุมัติให้ธนาคารออมสินในรอบที่ผ่านมากู้เงิน 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้วงเงินกู้จะมากกว่า”

นายวิรไทกล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ให้ ธปท.จัดทำโครงการ soft loan พิเศษ ช่วยส่วนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ลีสซิ่ง ทั้งนี้ พ.ร.ก.อนุญาตให้ ธปท.ออกซอฟต์โลน ครอบคลุมลูกค้าใหญ่ขึ้น และวงเงินใหญ่กว่าเดิม ที่ธนาคารออมสินเคยปล่อยสำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ไม่ใช่ขนาดกลางเมื่อปี 2555

 

สถาบันการเงินเสาหลัก เศรษฐกิจ

นายวิรไทกล่าวว่า วันนี้สถาบันการเงินและระบบการเงินของไทยเข้มแข็ง และเป็นเสาหลักให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ขณะเดียวกันต้องให้แน่ใจว่าตลาดการเงินสามารถทำงานได้เป็นปกติ ก.ล.ต.และ ธปท.ได้ร่วมกันพิจารณากลไกเพื่อดูตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่มากถึง 3.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยให้ภาคเศรษฐกิจ 14 ล้านล้านบาท

นายวิรไทกล่าวว่า ผู้ที่ถือตลาดตราสารหนี้ครอบคลุมประชาชน และองค์กรหลากหลายประเภท เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และธุรกิจจำนวนมากอาศัยการกู้เงินตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งปัญหาตลาดตราสารหนี้ในโลกได้ลามมายังตลาดตราสารหนี้ในไทย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจข้างหน้า ทำให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำหน้าที่ไม่เป็นปกติ

“ธปท.ขออนุมัติหลักการในการทำมาตรการเพื่อสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อให้ตลาดตราสารหนี้เดินต่อไปได้ คือ การออก พ.ร.ก.ให้ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ครบกำหนดเพื่อไปชำระของเดิมได้ โดยผู้ออกต้องเป็นบริษัทคุณภาพดี และต้องระดมทุนจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง รัฐบาลจึงเป็นเพียงการเติมเต็มเพื่อให้ตลาดทำหน้าที่ได้ตามปกติ โดยจะมีการคัดกรองบริษัทที่ดี”

นายวิรไทกล่าวว่า สำหรับมาตรการต่อไป คือ การขอขยายระยะเวลาลดจำนวนคุ้มครองเงินฝาก จาก 5 ล้านบาท เป็น 1 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดการขยายระยะเวลาในเดือนสิงหาคม 2563 ออกไปเป็นสิงหาคม 2564 เพื่อลดความกังวลของประชาชน

นอกจากนี้ ยังขอเลื่อนการส่งเงินสมทบของธนาคารพาณิชย์ เพื่อการใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากเดิมร้อยละ 0.46 เป็นร้อยละ 0.23 ระยะเวลา 2 ปี เพื่อนำไปลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ประชาชนต้องจ่ายให้สถาบันการเงิน

 

หน่วยงานรัฐงบเหลือ 6.4 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.ยังได้รับทราบแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 และภัยแล้ง ตามที่สำนักงบประมาณเสนอด้วย


หน่วยรับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ภายใต้แผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน 419 หน่วยงาน ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้ จำนวนทั้งสิ้น 644,181 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ จำนวน 362,076.9753 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 282,104.4329 ล้านบาท