แบงก์ขยับสาขาลดต้นทุน เฟ้นทำเลเข้าถึงเซ็กเมนต์

แบงก์กางแผนปรับทัพ “สาขา” รุกบริการเต็มสูบ ซีไอเอ็มบีไทย ขอ ธปท.เปิดเพิ่มใน “เซเว่นอีเลฟเว่น-ปั๊มน้ำมัน” 3 แบงก์ใหญ่ “BAY-BBL-SCBW” เฟ้นทำเลเปิดสาขาเน้นเข้าถึงลูกค้ารายเซ็กเมนต์ “เวลธ์-ธุรกิจ”

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) เปิดเผยว่า ปีนี้ ธนาคารคาดว่าจะมีสาขาให้บริการเหลือประมาณ 80 สาขา ลดลงจากปัจจุบันที่มีสาขาทั้งหมด 92 สาขา โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีการปรับสาขาบางส่วน ด้วยการปิดบางแห่งและย้ายมาเปิดสาขาใหม่ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และเน้นให้เป็นสาขาที่มีต้นทุนต่ำ

“ขณะนี้ทางธนาคารอยู่ระหว่างการขออนุญาตจาก ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เพื่อเปิดสาขาให้บริการในสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) และร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น จำนวน 2 สาขา หากได้รับการอนุมัติจาก ธปท.ภายในไตรมาส 3 นี้ ก็น่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ นอกจากนี้ เรามีแผนงานเพิ่มตู้ Kiosk(เครื่องให้บริการอัตโนมัติ) รองรับการทำธุรกรรมการเงินในสาขา เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก หรือการสมัครสินเชื่อโดยลูกค้าสามารถขอสินเชื่อและรู้ผลการอนุมัติได้ทันที เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) โดยปี 2560 นี้ คาดว่าจะวางเพิ่ม 4-5 ตู้ ในห้างสรรพสินค้า” นายอดิศรกล่าว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ทางธนาคารอยู่ระหว่างศึกษาหาความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขา เช่น ปรับบริการด้วยตนเอง (Self Service) ผ่านการติดตั้งโดยเครื่องจักร(Machine) แบบใหม่ หรือการพัฒนาตู้ ATM ซึ่งสามารถทำธุรกรรมได้หลายอย่าง เป็นต้น

“เรื่องการปรับแต่ละสาขา เราจะต้องดูว่าพื้นที่ไหนจะปรับอย่างไรในแต่ละเซ็กเมนต์ หรือจะทำช่องทางไหนให้เข้าถึงลูกค้าได้บ้าง ซึ่งการทำสาขาแบบใหม่ เรามีการพูดคุยกับ ธปท.อย่างใกล้ชิด แต่ปีนี้เราจะยังคงจำนวนสาขาไว้ที่ 670 สาขา ส่วนการจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการตั้งสาขา เช่น อาจจะมีการย้ายเข้าไปในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้ามากขึ้น ในขณะที่สาขาแบบสแตนด์อะโลน จะไม่ได้เปิดเพิ่มแล้ว” นายฐากรกล่าว

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สาขาธนาคารถือว่าเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงลูกค้า โดยปีนี้ทางธนาคารคาดว่าจะเปิดสาขาประมาณ 20 สาขา เพื่อตอบสนองฐานลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มธุรกิจ ซึ่งจะมีความต้องการพูดคุยกับพนักงานกันมากกว่า

“ช่องทางสาขาของเราในบางพื้นที่ยอดธุรกรรมก็มีการเติบโต แต่แน่นอนว่าในภาพรวมเทรนด์การทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งก็มีการเติบโตมากกว่า ทำให้ธนาคารต้องมาดูแผนงานว่า จะปรับเรื่องสาขาอย่างไรบ้าง โดยจะต้องดูการสร้างบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในพื้นที่” นายทวีลาภกล่าว

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทางธนาคารอยู่ระหว่างการปรับรูปแบบสาขา ซึ่งตอนนี้มีการทดลอง “ศูนย์สาขาต้นแบบ”


หากเก็บข้อมูลได้และมีการปรับระบบบริการแล้ว คาดว่าในปี 2560 จะเริ่มปรับสาขาได้ชัดเจน “รูปแบบสาขาที่ปรับใหม่ เราจะเจาะแต่ละเซ็กเมนต์มากขึ้น จากเดิมที่สาขารวมทุกธุรกรรมไว้บนเคาน์เตอร์ ซึ่งปัจจุบัน สาขาของเราก็มีเจาะเซ็กเมนต์มากขึ้นแล้ว เช่น มีเครื่องจักร (Machine) รูปแบบบิสซิเนสเซ็นเตอร์ (Business Center) ศูนย์บริหารความมั่งคั่ง (เวลธ์) ฯลฯ อย่างไรก็ตามมีบางพื้นที่ก็ยังจำเป็นคงรูปแบบสาขาแบบเดิมไว้อยู่” นายอาทิตย์กล่าว