ดีเดย์ พ.ค. หั่นดอกเบี้ยรูดปรื๊ด 6% นาน 6 เดือน

FILE PHOTO: Photographer: Daniel Acker/Bloomberg via Getty Images

ดีเดย์ พ.ค.นี้ “แบงก์-น็อนแบงก์” หั่นดอกเบี้ยรูดปรื๊ด 6% นาน 3-6 เดือน อุ้มลูกค้าผ่อนไม่ไหว เผย “บัตรกดเงินสด” ลดเหลือ 22% จาก 28% ส่วน “บัตรเครดิต” เหลือ 12% จาก 18% “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” แจงช่วยรายกรณีเน้นคนรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท-ไม่ลดทั้งกระดาน “ไทยพาณิชย์” งัดแคมเปญ “ดีจัง แบ่งชำระ รายเดือน” ให้กู้บนแอป “SCB EASY” คิดดอกเบี้ยแค่ 12% เป็นระยะเวลา 48 เดือน

แหล่งข่าววงการสถาบันการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) และบัตรเครดิตเพิ่มเติม ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เป็นรายกรณี เบื้องต้นคาดว่าสินเชื่อพีโลน หรือบัตรกดเงินสด จะลดดอกเบี้ยลงจาก 28% เหลือ 22% บัตรเครดิต จาก 18% เหลือ 12%

“มาตรการนี้ช่วยแบบรายกรณี ไม่ใช่ปรับลดเพดานดอกเบี้ยให้ทุกคนโดยอัตโนมัติ ซึ่ง ธปท.ขอความร่วมมือให้ทำเพิ่มเติม หลังก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำ 6 ประเภทสินเชื่อ ส่วนหนึ่งมีการปรับลดวงเงินชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% จาก 10% ไปแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

จ่อลด ดอกเบี้ยพีโลน-บัตรเครดิต

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” กล่าวว่า สถาบันการเงิน และชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลได้หารือเรื่องดังกล่าวกับทาง ธปท.จริง ซึ่ง ธปท.ขอให้พิจารณาว่าจะลดดอกเบี้ยลงมาได้ที่เท่าไหร่ เบื้องต้นน่าจะลดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเหลือ 22% จาก 28% ได้ แต่ต้องรอประกาศเป็นทางการจาก ธปท. ภายในเดือน เม.ย.นี้

โฟกัสกลุ่มรายได้ไม่เกิน 3 หมื่น

อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการช่วยหลือเพิ่มเติมเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ซึ่งไม่สามารถผ่อนชำระขั้นต่ำในอัตราเดิมได้ เนื่องจากหากปรับให้ทั้งหมด แบงก์จะแบกรับภาระไม่ไหว

“รายละเอียดพีโลนแต่ละแบงก์จะต่างกัน หลัก ๆ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1.สินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ซึ่งลูกค้าเลือกชำระขั้นต่ำได้ ส่วนนี้ปัจจุบันเฟิร์สช้อยส์ได้ลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3% จากเดิม 5% ตั้งแต่ 18 มี.ค. 2.กลุ่ม installment loan ที่แบ่งผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กัน”

สำหรับความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกค้า “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” ล่าสุด ณ 26 มี.ค. 2563 มีลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือแล้ว 7,486 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อที่ได้รับการพักชำระหนี้ 4 เดือน เป็นมูลหนี้จำนวน 435 ล้านบาท

ช่วยลูกหนี้ไม่มีประวัติค้างชำระ

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภายใน เม.ย.นี้ ธปท.จะประกาศการช่วยเหลือลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพิ่มเติม โดยไทยพาณิชย์จะทำแคมเปญ “ดีจัง แบ่งชำระ รายเดือน” (Call for ดีจัง) ดอกเบี้ยพิเศษ 12% ต่อปี ระยะเวลา 48 เดือน ผ่านโมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชั่น “SCB EASY”

“ธนาคารได้แบ่งกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบออกเป็นทางตรงและทางอ้อม โดยพิจารณาจากอาชีพ รายได้ สถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย และลูกค้าต้องไม่มีประวัติค้างชำระด้วย”

สำหรับภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ครึ่งแรกปี 2563 คาดว่ายอดใช้จ่าย (สเปนดิ้ง) โดยรวมหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารได้ปรับแผนธุรกิจเน้นให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหา ทั้งพักชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน ลดอัตราชำระคืนขั้นต่ำจาก 10% เป็น 5% (เม.ย. 2563-ธ.ค. 2564) และจะออกโปรดักต์เพิ่มเติม

อิออนลด ดอกเบี้ย 3 เดือนเริ่ม พ.ค.นี้

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า ที่ผ่านมาอิออนปรับวงเงินชำระขั้นต่ำพีโลน จาก 3% เหลือ 1% ตามนโยบาย ธปท.ไปแล้ว ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยพีโลนและบัตรเครดิตอยู่ระหว่างให้ทีมติดตามทวงถามหนี้ประเมินตัวเลขและลูกค้าที่เข้าข่ายได้ลดดอกเบี้ย เช่น กลุ่มโรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และพนักงานที่ตกงาน ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งประเทศคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าได้เดือน พ.ค.นี้ ช่วงแรกจะลดดอกเบี้ยให้ 3 เดือนก่อน จากนั้นจะพิจารณาความสามารถการชำระหนี้อีกครั้ง หากยังไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ผ่อนชำระได้จะขยายเป็น 6 เดือน แต่หากธุรกิจใดยังไม่ฟื้นตัว จะช่วยเหลือต่อไป

กู้ “พีโลน-บัตรเครดิต” ชะลอ

ด้านนางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ธุรกิจรายย่อย และยุทธศาสตร์การตัดสินใจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทั้งระบบมีลูกค้าค้างชำระ ไม่เกิน 30 วัน อยู่ 5-6% ซึ่งทุกธนาคารพยายามช่วยเหลือต่อเนื่อง ในส่วนของซีไอเอ็มบี ไทย มีโปรแกรมช่วยเหลือลูกค้ามีวินัย คิดดอกเบี้ยถูกลง เช่น สินเชื่อบุคคลผ่อนชำระ 1 ปี ดอกเบี้ย 9% ผ่อนชำระ 2 ปี ดอกเบี้ย 11.84%

ขณะที่นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตในปีนี้ ตามภาวะการเบิกใช้สินเชื่อที่ลดลง จากเดิมที่คาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้จะเติบโต 7% และบัตรเครดิต 6.5% ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัวติดลบยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคล ณ เดือน ม.ค. 2563 ทั้งระบบอยู่ที่ 582,865 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อคงค้างธนาคารพาณิชย์ 254,249 ล้านบาท สินเชื่อคงค้างของระบบผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (nonbank) 328,616 ล้านบาท ส่วนบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ 429,944 ล้านบาท เป็น บัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ 259,665 ล้านบาท และ nonbank ที่ 170,279 ล้านบาท

โดยสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 17,448 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 แบ่งเป็น เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ 10,680 ล้านบาท nonbank 6,768 ล้านบาท เอ็นพีแอลบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ 8,803 ล้านบาท เป็น เอ็นพีแอลบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ 6,242 ล้านบาท nonbank อยู่ที่ 2,561 ล้านบาท

“ออมสิน-ธ.ก.ส.” ให้กู้ดอก 0.1%

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำ “โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน” เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม วงเงินสินเชื่อแบงก์ละ 20,000 ล้านบาท รวม 40,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยแค่ 0.1% ต่อเดือน วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 10,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี ปลอดชำระเงินกู้ 6 เดือนแรก ไม่ต้องใช้หลักประกัน เพียงแต่ผู้กู้ต้องมีคุณสมบัติ มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน ประกอบอาชีพอิสระรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถโดยสาร แท็กซี่ สามล้อ มัคคุเทศก์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินมี “โครงการสินเชื่อพิเศษ” วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบวงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 50,000 บาท อดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ให้ผ่อนชำระคืนนานถึง 3 ปี โดยการค้ำประกันสามารถใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันได้จะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนแจ้งความจำนงใช้บริการตั้งแต่ 15 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ www.gsb.or.th ขณะที่ ธ.ก.ส.จะเปิดรับลงทะเบียน 15 เม.ย.นี้เช่นกัน ผ่านทาง LINE “BAAC Family” ทั้ง 2 ธนาคารจะให้บริการสินเชื่อดังกล่าวถึง 30 ธ.ค. 2563