บจ.แห่ซื้อหุ้นคืน “พยุงราคา” สถิติใหม่ ไตรมาสเดียวทะลุ 7 หมื่นล้าน

ปี 2563 นี้ผ่านมาแค่ไตรมาสเดียว บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็แห่กันประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนกันอย่างครึกโครม โดยเมื่อรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 2 เม.ย. มี บจ.ถึง 31 บริษัทแล้วที่ประกาศซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น (treasury stock) เป็นวงเงินรวมกันถึง 75,349 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีที่มีซื้อหุ้นคืนรวม 13,600 ล้านบาท หรือกว่า 5.5 เท่าตัวเลยทีเดียว

“เครือ ซี.พี.” 3 บจ.ซื้อหุ้นคืน

ทั้งนี้ บจ.ที่กำหนดวงเงินซื้อหุ้นคืนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป มีด้วยกัน 15 บริษัท ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ซีพี ออลล์ (CPALL), เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), ทุนธนชาต (TCAP), เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ศุภาลัย (SPALI), ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), ช.การช่าง (CK), บ้านปู เพาเวอร์ (BPP), บางกอกแลนด์ (BLAND), ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL), สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) และเอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI)

ในจำนวนนี้ธุรกิจเครือ ซี.พี.ประกาศซื้อหุ้นคืนถึง 3 บจ. มูลค่ารวม 24,500 ล้านบาท ได้แก่ CPALL 13,000 ล้านบาท, CPF 10,000 ล้านบาท และ TRUE 1,500 ล้านบาท

กลุ่มแบงก์แห่ตั้งโต๊ะซื้อสูงสุด

หากพิจารณาตามกลุ่มหุ้น พบว่ากลุ่มแบงก์มีถึง 3 บจ.ที่มีโครงการซื้อหุ้นคืน มูลค่ารวมกัน 26,600 ล้านบาท ได้แก่ SCB 16,000 ล้านบาท, TCAP 6,000 ล้านบาท และ KBANK 4,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีอีก 16 บริษัทที่มูลค่าซื้อคืนต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ได้แก่ TPIPL 800 ล้านบาท, DRT 517 ล้านบาท, SKR 330 ล้านบาท, GIFT 210 ล้านบาท, XO 135 ล้านบาท, TKN 100 ล้านบาท, SCP 98.55 ล้านบาท, BA 90 ล้านบาท, TACC 50 ล้านบาท, WP 50 ล้านบาท, TFG 45 ล้านบาท, GENCO 45 ล้านบาท, EKH 30 ล้านบาท, ZIGA 30 ล้านบาท, PJW 23 ล้านบาท และ TSR 10 ล้านบาท

ซื้อหุ้นคืนสูงสุดในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ การแห่ประกาศซื้อหุ้นคืนในช่วงไตรมาสแรกปีนี้นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ เพราะย้อนไปตั้งแต่ปี 2551 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ก็ไม่เคยมีการซื้อหุ้นคืนมากขนาดนี้

โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ให้ข้อมูลว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การซื้อคืนหุ้นของ บจ.เฉลี่ยไม่เกินปีละ 10 บริษัทเท่านั้น

ปมหลัก “หุ้นร่วงหนัก-ราคาต่ำ”

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ปีนี้ บจ.ประกาศซื้อหุ้นคืนกันมากตั้งแต่ไตรมาสแรก มองว่าเป็นผลจากการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET index) ปรับลดลงมาอยู่ระดับกว่า 1,000 จุด รวมถึงราคาหุ้นหลาย ๆ ตัวก็ปรับลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี หรืออยู่ในระดับราคาที่ไม่ค่อยแพงมากนัก ส่งผลให้ผู้บริหารแต่ละบริษัทตัดสินใจประกาศซื้อหุ้นคืน

“ผู้บริหารคงมองว่ามูลค่า (value) ของหุ้นตัวเองมากกว่าราคาหุ้นในปัจจุบัน จึงออกโครงการซื้อหุ้นคืน อย่างไรก็ตาม แม้การซื้อหุ้นคืนจะเป็นบรรยากาศ (sentiment) เชิงบวกต่อราคาหุ้น แต่นักลงทุนก็ต้องกลับมาดูด้วยว่า ธุรกิจนั้น ๆ จะสามารถกลับมาทำกำไรต่อได้หรือไม่ โดยเฉพาะในบริษัทมีกระแสเงินสดไม่มาก การที่เอาเงินสดในมือมาซื้อหุ้นคืน ก็อาจเป็นความเสี่ยงในระยะต่อไป” นายวิจิตรกล่าว

หวั่น บจ.กระแสเงินสดต่ำเสี่ยง

นายวิจิตรกล่าวว่า เห็นด้วยกับการประกาศซื้อหุ้นคืนในกรณีของบริษัทที่มีกระแสเงินสดสูง แต่เท่าที่ติดตามประกาศในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าบางบริษัทไม่ได้มีกระแสเงินสดมากนัก ซึ่งในภาวะเช่นนี้บริษัทกลุ่มดังกล่าวไม่ควรจะประกาศซื้อหุ้นคืน แต่ควรเก็บเงินสดไว้เป็นกันชน (buffer) เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในปีนี้มากกว่า โดยเฉพาะหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยืดเยื้อออกไปถึงไตรมาส 3 จะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวหนักและเป็นความเสี่ยงต่อบริษัทกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น

บาง บจ.อาจไม่ซื้อตามประกาศ

นายวิจิตรกล่าวอีกว่า การซื้อหุ้นคืนในอดีตที่ผ่านมาเป็นเพียงการเปิดวงเงินเท่านั้น หรือไม่ได้เป็นคำมั่นสัญญาว่าบริษัทเหล่านั้นจะมีการซื้อหุ้นคืนจริง โดยบางกรณีที่เปิดวงเงินไว้และราคาหุ้นกระตุกขึ้นมา บริษัทอาจไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นคืนเพื่อพยุงราคาอีกต่อไป ดังนั้น เม็ดเงินรวมกันกว่า 7 หมื่นล้านบาทที่เปิดไว้ตามที่แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯจึงอาจจะไม่ได้ซื้อครบเต็มวงเงิน และลักษณะการซื้อหุ้นคืนในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นการซื้อไล่ราคาขึ้นไป แต่จะซื้อในจังหวะที่ราคาหุ้นปรับลดลงมาค่อนข้างถูก และหากราคาหุ้นสามารถดีดกลับขึ้นมาถึงจุดหนึ่งบริษัทอาจไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นคืนอีกก็ได้

“ในอดีตการซื้อหุ้นคืน คือแทบจะไม่ได้ใช้เงินมากเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บจ.ใหญ่ ๆ ในกลุ่ม SET50 ในอดีตก็แจ้งว่าซื้อหุ้นคืน แต่สุดท้ายก็แทบจะไม่ได้ซื้อเลย เพราะไม่มีกฎบังคับให้ซื้อตามที่ประกาศ ดังนั้น อย่าเพิ่งไปคาดหวังในวงเงินที่เอามารวมกันแล้วเป็นตัวเลขสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท” นายวิจิตรกล่าว

ลุ้นปัจจัยบวกหนุนหุ้น เม.ย.ฟื้น

ด้านฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า ระบุว่า แนวโน้มของตลาดหุ้นไทยเดือน เม.ย. 2563 คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา SET index สามารถปรับตัวทะลุ 1,100 จุดขึ้นมาได้ถือว่าเป็นบรรยากาศเชิงบวกค่อนข้างดี

นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และ กองทุนรวมเพื่อการออมชนิดพิเศษ (SSFX) ที่เริ่มขายกองทุนในวันที่ 1 เม.ย. รวมถึงการเข้าสู่ช่วงซื้อหุ้นคืนของ บจ.ต่าง ๆ ที่มีเม็ดเงินรวมกันสูงถึง 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยเข้ามาตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป

ปัจจัยบวกที่เข้ามาจะช่วยพยุงหุ้นไทยฝ่าวิกฤต “โควิด-19” ได้แค่ไหนคงต้องติดตามกันต่อไป