ธปท.จี้แบงก์รับมือเลิก “ไลบอร์” จ่อประกาศ “ดอกเบี้ยข้ามคืน” อ้างอิงแทน

แบงก์ไทยเร่งเตรียมพร้อมรับมือเลิกใช้ดอกเบี้ย “ไลบอร์” คาดเอฟเฟ็กต์ธุรกรรมทั่วโลก 470 ล้านล้านดอลลาร์ หวั่นกระทบ “แคชโฟลว์-งบการเงิน” ธุรกิจขนาดใหญ่ ธปท.ชี้เป็นความเสี่ยง-ขอความร่วมมือสถาบันการเงินเร่งจัดทำแผนเตรียมพร้อมครอบคลุม 5 ด้าน คาด เม.ย.นี้ประกาศให้ใช้ดอกเบี้ย “ข้ามคืน” อ้างอิงแทน

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย LIBOR (London Interbank Offered Rate) ตามที่ Financial Conduct Authority (FCA) หน่วยงานกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย LIBOR (ไลบอร์) ประกาศไม่รับรอง LIBOR หลังสิ้นปี 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากพบว่ามีธนาคารพาณิชย์บิดเบือนอัตราอ้างอิงไม่ตรงตามจริง ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง (ฮั้ว)

“ธปท.เห็นว่ามีความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย LIBOR อาจจะยุติการใช้ถาวร ซึ่งจะกระทบต่อธุรกรรมการเงินที่อ้างอิง LIBOR ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีอยู่จำนวนมาก และยังมีอายุสัญญาคงเหลืออีกยาวนาน โดยคาดว่ามีปริมาณธุรกรรมสูงถึง 370 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ทั่วโลก) และคาดว่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดการเงินไทย จึงขอความร่วมมือแบงก์เตรียมแผนการรองรับ” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับแผนการเตรียมความพร้อม ธปท.กำหนดว่าต้องครอบคลุมประเด็นสำคัญอย่างน้อย 5 ด้าน

“ธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินจัดส่งรายงานผลกระทบ จากการยุติการเผยแพร่ LIBOR และแผนการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมให้ ธปท.ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2563 รวมทั้งรายงานความคืบหน้าให้ ธปท.ทราบภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นไตรมาส โดยให้เริ่มรายงานตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 จนถึงไตรมาส 4 ปี 2564” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การยกเลิกหรือยุติการใช้ LIBOR ในการอ้างอิงการกู้ยืมเงินน่าจะกระทบค่อนข้างมากโดยเฉพาะในแง่กระแสเงินสด (cash flow) และงบการเงินของบริษัท เนื่องจากข้อมูลที่มีการรวบรวมตัวเลขการกู้ยืมเงินโดยใช้ LIBOR ในการอ้างอิง พบว่ามีจำนวนเงินมหาศาล ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยการอ้างอิงที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark) ถือเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก

“การกู้สินเชื่อแบบเทอมโลนทั่วโลกที่อิง LIBOR มีเฉลี่ย 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และคาดกันว่าหลังจากในปี 2564 จะมีวงเงินกู้ที่จะครบกำหนด (roll over) อีกราว 12 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่าค่อนข้างมาก ขณะที่ตลาดการเงินไทยที่มีการใช้อ้างอิงจะมีอยู่ 2 อัตราหลัก คือ THBFIX และอัตราดอกเบี้ย BIBOR (bangkok interbank offered rate) ที่เป็นดอกเบี้ยระยะสั้น” แหล่งข่าวกล่าว

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ เพื่อศึกษาผลกระทบและหาแนวทางการรับมือดังกล่าว โดยระยะแรกจะมี 5 ธนาคารใหญ่และธนาคารต่างประเทศ ในระยะถัดไปสถาบันการเงินจะเข้าร่วมทุกแห่ง

“คณะทำงานจะเริ่มต้นจากการหาไอเดียและแนวทางความเป็นไปได้ที่จะนำอะไรมาใช้ทดแทนอัตราดอกเบี้ย LIBOR โดยเบื้องต้นมีแนวคิดนำอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน (1 day repo rate) ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่มีพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งตอนนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าหากนำมาใช้จะต้องหาวิธีการนำมาใช้อย่างไร และจะมีผลกระทบอย่างไร สิ่งเหล่านี้คณะทำงานกำลังหาแนวทางร่วมกัน คาดว่าน่าจะเริ่มมีความชัดเจนภายในเร็ว ๆ นี้” นายศรัณย์กล่าว

นายศรัณย์กล่าวว่า ระหว่างนี้แบงก์ทุกแห่งจะต้องเตรียมตัวและสำรวจสัญญาการกู้ยืมของลูกค้าว่ามีการใช้ดอกเบี้ยอ้างอิงเป็น LIBOR รวมถึง THBFIX มากน้อยระดับใด และหากยุติการใช้ LIBOR จะมีอะไรมารองรับ โดยทุกแบงก์ต้องทำตามแผนที่ ธปท.กำหนดให้ครอบคลุม 5 ด้าน

นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารมีคณะทำงานร่วมกับ ธปท.อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการยุติการใช้ LIBOR โดยปัจจุบันตัวแทนแบงก์ต่าง ๆ อยู่ระหว่างการให้ความเห็นในเรื่องการหาอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่จะนำมาใช้อ้างอิงแทน LIBOR คาดว่าภายในไตรมาส 2 ปีนี้น่าจะได้ข้อสรุป จากนั้นในปี 2564 จะทยอยแจ้งลูกค้าและทยอยเปลี่ยนสัญญาและเงื่อนไขเงินกู้เดิมที่เคยใช้ LIBOR ในการอ้างอิงมาเป็นอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่นำมาใช้

“ลูกค้ารายใหญ่ที่มีการกู้เงินต่างประเทศจะใช้ LIBOR ในการอ้างอิงในการทำการแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยต่างสกุลเงิน (swap) ซึ่งธนาคารต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกค้า แต่เชื่อว่าจะทันภายในกรอบตามที่ ธปท.กำหนดไว้” นายจงรักกล่าว

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ภายในเดือน เม.ย. หรืออย่างช้าไม่เกินไตรมาส 2 นี้ ธปท.น่าจะประกาศอัตราดอกเบี้ยตัวใหม่ที่จะนำมาใช้อ้างอิง LIBOR และ THBFIX ซึ่งจะสะท้อนธุรกรรมในประเทศมากขึ้น