แบงก์ชาติเผยแพร่รายงาน กนง. นัดพิเศษ แจงเหตุผลลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25%

แบงก์ชาติเผยแพร่รายงาน กนง. นัดพิเศษ แจงเหตุผลลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25% หนุนตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้เอกชน สกัดความเสี่ยงไม่ให้ลุกลาม หวั่นกระทบ “ผู้ถือหุ้นกู้-สหกรณ์ออมทรัพย์”

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยการประชุมนัดดังกล่าวมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายคณิศ แสงสุพรรณ นายสุภัค ศิวะรักษ์ และ นายสมชัย จิตสุชน

ทั้งนี้ มีการระบุถึงเหตุผลการประชุมนัดพิเศษ ว่า นับจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ทวีความรุนแรงขึ้น และขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และสร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดการเงินไทย ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุมที่ได้กำหนดไว้ในปลายเดือนมีนาคม คณะกรรมการฯ จึงประชุมนัดพิเศษในวันที่ 20 มีนาคม 2563 เพื่อประเมินสถานการณ์ของ COVID-19 ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมถึงผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ก่อนการประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินมาตรการที่จำเป็นได้อย่างทันการณ์

โดยการดำเนินนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิมและจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปี 2563 และต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น นอกจากนี้ การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ

“กนง.เห็นว่าภายใต้สถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การดำเนินนโยบายอย่างทันท่วงที ก่อนการประชุมที่ได้กำหนดไว้จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินไทยได้ทันการณ์ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหา สภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการแล้วและที่จะดำเนินการเพิ่มเติม”

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งที่ผ่านมาและในครั้งนี้จะเกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจ ก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินจะต้องมีบทบาทเชิงรุกในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และประชาชน รวมทั้งการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม จึงขอให้ ธปท. ติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นของมาตรการดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จึงสนับสนุนให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อดูแลสภาพคล่องในระบบการเงิน และขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้เป็นปกติ

แม้ว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ในบางจุดเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบผ่านรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ลดลง (income shock) ตลอดจนราคาสินทรัพย์ที่อาจลดลงและภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้มีแนวโน้มด้อยลง รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะครบกำหนด (rollover risk) อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีฐานะมั่นคง สะท้อนจากสัดส่วนเงินกองทุนและเงินกันสำรองที่สูงเพียงพอ รองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงได้

ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง คณะกรรมการฯ อภิปรายถึงความเชื่อมโยงในระบบการเงินที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบันและแนวทางป้องกันความเสี่ยงในจุดต่าง ๆ เพื่อเตรียมการมิให้ปัญหาลุกลาม


“กนง.เห็นว่าความเสี่ยงจากตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน อาจส่งผ่านไปยังผู้ถือหุ้นกู้ รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งที่ลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเปราะบางในสัดส่วนที่สูง จึงสนับสนุนแนวทางการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมมาตรการอื่น ๆ ให้พร้อม เพื่อดูแลไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายวงกว้างขึ้นจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม”