โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร 9 ล้านราย “ธ.ก.ส.” แจก 15,000 บาท ได้ข้อยุติ 10 เม.ย.

เยียวยาเกษตรกร สวนยาง อ้อยน้ำตาล
แฟ้มภาพ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากหารือร่วมกับชุดคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรื่องแนวทางเยียวยาเกษตรกร ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องแนวทางการดูแลเกษตรกร เบื้องต้น ได้สั่งการบ้านให้ ธ.ก.ส. ไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยจะมีการนัดหารือในข้อสรุปอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.)

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้รับการบ้านให้ไปศึกษาและพิจารณา 3 แนวทาง ได้แก่ จะให้กี่ครัวเรือน จ่ายกี่ครั้ง และจ่ายเท่าไหร่ โดยพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) ธ.ก.ส.จะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มารายงานที่ประชุมอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในหลักการเบื้องต้น เกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาจะพิจารณาข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้ง ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ประมง และปศุสัตว์ ประมาณ 9 ล้านครัวเรือน โดยไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียนใหม่ เพราะกระทรวงเกษตรฯ ขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้วกว่า 99% อาจจะมีส่วนเก็บตกเล้กน้อยเท่านั้น

พร้อมกันนี้ แนวทางเยียวยาเกษตรกรต้องการไม่ให้ซ้ำซ้อนกับมาตรการเยียวยาอาชีพอิสระ ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งในหลักการไม่ได้อิงการจ่ายเงินเหมือนกับการเยียวยาอาชีพอิสระแล้ว เพราะหากจ่ายถึง 30,000 บาท อาจจะทำให้งบประมาณไม่พอดูแลส่วนอื่นๆ เนื่องจากวงเงินที่จะใช้นำมาจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แบ่งออกไปดูแลแผนงานด้านสาธารณสุขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท แต่หากจ่ายครอบครัวละ 15,000 บาท จะใช้งบประมาณไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี จะต้องรอดูข้อสรุปในที่ประชุมอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายอภิรมย์กล่าวว่า จะจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรได้จะต้องให้ พ.ร.ก.ผ่านขั้นตอนกฤษฎีกา จึงจะสามารถจ่ายเงินได้ อย่างไรก็ดี รูปแบบการจ่ายสำหรับคนได้สิทธิ จะไม่จำเป็นต้องเข้ามาลงทะเบียนใหม่ ธนาคารจะโอนเงินให้เกษตรกรผ่านบัญชีธนาคารเลย ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรมีบัญชี ธ.ก.ส. 6-7 ล้านราย