กรมศุลดีเดย์กม.ใหม่ 13 พ.ย. ตั้งเขตปลอดภาษีอีคอมเมิร์ซ

ถึงคิวกรมศุลกากรเล่นบทเข้ม ออก พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่บังคับใช้ 13 พ.ย.ตั้งเป้าอุดรูรั่ว-รีดรายได้เข้ารัฐ 1.2 แสนล้าน ยกเครื่องบริการใหม่ เล็งตั้งเขตปลอดภาษีอีคอมเมิร์ซหนุนอีอีซี รื้อระบบสินบน-รางวัลนำจับ จ่ายเจ้าหน้าที่สูงสุดไม่เกิน 5 ล้าน นำเข้าสินค้าผ่านแดนหนาวค้างเกิน 30 วันยึดขายทอดตลาด

ฝุ่นตลบช่วงรัฐปรับอัตราภาษีสรรพสามิตไม่ทันจาง ถึงคิวกรมศุลฯเล่นบทเข้ม พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่บังคับใช้ 13 พ.ย.นี้ เร่งอุดรูรั่ว-รีดรายได้เข้ารัฐ 1.2 แสนล้าน-ใช้ไอทียกระดับบริการ เล็งตั้งเขตปลอดภาษีอีคอมเมิร์ซหนุนอีอีซี รื้อระบบสินบน-รางวัลนำจับ จ่าย จนท.ศุลกากรไม่เกิน 5 ล้าน จากเดิมไม่มีเพดาน ชิปปิ้งอ่วมต้องขึ้นทะเบียน-ขอใบอนุญาตจากอธิบดีกรมศุลฯ ผู้นำเข้าสินค้าผ่านแดนหนาวสินค้าค้างชายแดนเกิน 30 วัน ถูกสั่งยึดขายทอดตลาด

แม้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบราคาสินค้าโดยเฉพาะบุหรี่ สุรา เบียร์ น้ำอัดลม รถยนต์ ฯลฯ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน แต่ไม่ถึงกับทำให้ตลาดและกำลังซื้อหยุดชะงักเหมือนที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ที่ต้องจับตามองรอบใหม่คือ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นทางการในอีก 2 เดือนข้างหน้า หลังพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 17 พ.ค. 2560

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 2 ต.ค.นี้ ตนจะมอบนโยบายการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2561 แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติทั้งการอุดรูรั่วไหลในการจัดเก็บภาษี หลังจากปีงบประมาณ 2560 ยอดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า เพราะมีการใช้สิทธิประโยชน์การค้าระหว่างประเทศกันมากขึ้น สินค้าที่เห็นผลกระทบได้ชัดเจนคือ รถยนต์ ที่ผู้ประกอบการไปตั้งโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย แล้วนำเข้ามาในประเทศไทยแบบไม่มีภาระภาษีช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.2559-ส.ค.2560) กรมศุลกากรเก็บรายได้ที่เป็นของศุลกากรเองได้ 96,549 ล้านบาท หรือแค่ 19% เก็บแทนหน่วยงานอื่น 400,471 ล้านบาท หรือ 81% ในจำนวนนี้เก็บแทนกรมสรรพากร 270,000 ล้านบาท เก็บแทนกรมสรรพสามิต92,000 ล้านบาท เก็บแทนท้องถิ่น 37,000 ล้านบาท

“อย่างรถยนต์มียอดนำเข้าเพิ่ม แต่เก็บภาษีได้น้อยลง 3,270 ล้านบาท เพราะมีข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ก็ต้องมาโฟกัสการเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ต้องตรวจร่วม เข้มงวดการปราบปรามมากขึ้น โดยในปีงบฯ 2561ได้รับเป้าหมายเก็บรายได้ที่ 120,000 ล้านบาท”

กม.ศุลกากรใหม่หนุน “อีอีซี”

นายกุลิศกล่าวว่า ปีงบฯ 2561 จะเป็นปีที่เริ่มใช้ พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ 13 พ.ย. 2560 เป็นต้นไป ซึ่งกรมจะนำระบบไอที ดิจิทัล เข้ามาทำงานมากขึ้น มีเรื่องเขตปลอดอากรใหม่ จะอำนวยความสะดวกมากขึ้น ช่วยสนับสนุนการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการอำนวยความสะดวกเรื่องเขตปลอดอากร จะให้ผู้ประกอบการไม่ต้องขอใบอนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีนำเข้าวัตถุดิบที่เป็น “ของต้องจำกัด” เข้ามาผลิตเพื่อส่งออก ต้องขออนุญาตเฉพาะการขายภายในประเทศเท่านั้น

ในส่วนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะจัดตั้ง “อีคอมเมิร์ซ พาร์ก” ขึ้น ล่าสุด “ลาซาด้า” และ “อาลีบาบา” สนใจเข้ามาลงทุน เมื่อกำหนดจุดที่จะทำอีคอมเมิร์ซพาร์ก แล้ว กระทรวงการคลังจะออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่เขตปลอดอากรให้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ หรือเอาสินค้ามาพักไว้แล้วส่งออกไปไม่ต้องเสียภาษี แต่หากจำหน่ายในประเทศต้องเสียภาษี โดยกรมศุลกากรจะทำระบบจำแนกสินค้าในคลังว่าสินค้าใดขายในประเทศสินค้าใดส่งออก

“ปัจจุบันของที่จะเป็นวัตถุดิบนำเข้ามาผสม ประกอบ เอาเข้ามาพักในเขตปลอดอากร ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เสร็จแล้วก็ส่งออกไป แต่ของใหม่ถ้านำเข้ามาผสม ประกอบ แล้วขายไปประเทศที่สาม ผลิตเพื่อส่งออกไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องขออนุญาต ยกเว้นขายในประเทศต้องขออนุญาต”

สินค้าตกค้างยาวยึดเข้ารัฐ

ขณะเดียวกัน กฎหมายใหม่จะกำหนดพิธีการเรื่องการ “ถ่ายลำ” และ “ผ่านแดน” ใหม่ ขีดเส้นตายให้ต้องนำสินค้าออกไปจากราชอาณาจักรไทยภายใน 30 วัน ป้องกันนำสินค้ามากองไว้ตามชายแดน

“เดิมมีปัญหาซัพพลายมากกว่าดีมานด์ คนไม่ได้สั่งสินค้า แต่ผู้ประกอบการนำมากองไว้ตามชายแดน อย่างเช่น รถยนต์มือสอง จักรยานมือสอง อย่างด่านแม่สอด ทำให้ด่านศุลกากรกลายเป็นเต็นท์รถ แล้วให้คนมาเลือกสินค้า ถ้าชอบค่อยขายออกไป”

ตามกฎหมายใหม่หากสินค้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเกิน 30 วัน ผู้นำสินค้าผ่านแดนไม่สามารถหาผู้ซื้อได้ ต้องส่งกลับไปประเทศต้นทาง (รีเอ็กซ์ปอร์ต) หรือต้องขอใบอนุญาตขายในประเทศ ต้องชำระภาษีตามเงื่อนไข หากไม่สามารถทำได้ทั้ง 2 กรณี สินค้าจะถูกยึดขายทอดตลาดนำรายได้เข้าแผ่นดิน

ส่วนการถ่ายลำปัจจุบันต้องใช้เอกสารถึง 19 ประเภท เช่น ใบอนุญาต เป็นต้น กฎหมายใหม่ให้ใช้ระบบ “ใบขนอิเล็กทรอนิกส์” อำนวยความสะดวก ขณะนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เห็นชอบให้กรมศุลกากรจัดตั้งศูนย์ถ่ายลำขึ้น ทำให้มีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่ม

ถอนใบอนุญาตชิปปิ้ง

กฎหมายใหม่ยังกำหนดเกี่ยวกับตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) ว่า ใครจะเข้ามาเป็นชิปปิ้งจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี จากเดิมกฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องชิบปิ้งไว้ จากนี้จะออกประกาศหลักเกณฑ์ที่ชิปปิ้งต้องปฏิบัติ หากไม่ทำตามอธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต

นอกจากนี้ ยังให้กรมลงโทษชิปปิ้งได้ กรณีสำแดงราคาต่ำ นำของละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามา โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเดิมทำอะไรไม่ได้ หรือไปบอกว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรเรียกเงิน แต่จริง ๆ ชิปปิ้งเรียกเอง ก็จะเพิกถอนใบอนุญาต แล้วขึ้นบัญชีดำ

ปรับแนวปฏิบัติประเมินอากร

นายกุลิศกล่าวว่า สำหรับการประเมินอากรของเจ้าหน้าที่ศุลกากร จะกำหนดระยะเวลาประเมินอากร หรือเรียกเอกสารหลักฐานภายในสถานที่ของผู้ประกอบการได้ โดยต้องดำเนินการภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นใบขนสินค้า หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถประเมินได้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ก็ต้องชี้แจงต่ออธิบดี และขยายเวลาให้ได้อีกไม่เกิน 2 ปี จากเดิมไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ เจ้าหน้าที่จะเรียกประเมินเมื่อไรก็ได้

ขณะเดียวกันกฎหมายใหม่กำหนดว่า หากผู้ประกอบการอุทธรณ์ภาษี ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากไม่แล้วเสร็จ ผู้ประกอบการฟ้องศาลได้

รื้อระบบ “สินบน-รางวัลนำจับ”

อีกประเด็นคือ การจ่ายเงินรางวัลและสินบน โดยเงินรางวัลเป็นเงินที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายศุลกากรได้สำเร็จ หรือเป็นผู้คิดอากรที่ขาดไปสำเร็จ เช่น สินค้ารายการหนึ่งควรเสียภาษี 10 ล้านบาท
แต่จ่ายภาษี 5 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจะได้รับเงินรางวัล ส่วนจ่ายสินบนจะจ่ายให้ผู้แจ้งเบาะแส กฎหมายใหม่กำหนดว่า จะจ่ายเงินรางวัลและสินบนได้ต้องเป็นไปตามฐานความผิด 6 กรณี ได้แก่ 1.สำแดงเท็จ 2.หลีกเลี่ยงอากร3.หลีกเลี่ยงข้อห้าม (สินค้าห้ามนำเข้า) 4.หลีกเลี่ยงข้อจำกัด (สินค้าที่ต้องขอใบอนุญาต) 5.ลักลอบหนีศุลกากร และ 6.รับซื้อของโจร (ของที่ลักลอบนำเข้า)

“เดิมเงินรางวัลและสินบนจะได้รับ 55% ของราคาของกลางที่ขายได้ หรือราคาค่าปรับ โดยไม่มีเพดาน ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำให้เสร็จใน 3 ปี”

กฎหมายใหม่ให้จ่าย 20% ของเงินค่าขายของกลาง หรือค่าปรับในการจับกุม 3 ฐานกรณี คือ หลีกเลี่ยงข้อห้าม ลักลอบหนีศุลกากร ซื้อของโจร โดยทั้ง 2 กรณีกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 5 ล้านบาท