ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังตลาดต่างประเทศได้หยุดทำการในวันอีสเตอร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/4) ที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (9/4) ที่ระดับ 32.65/6 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวอ่อนค่าในช่วงท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ (8/4) กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกได้พุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.6 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.25 ล้านราย โดยเมื่อรวมตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่มีการรายงานข้างต้นมารวมกับ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ พบว่าตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า 16 ล้านราย

ทั้งนี้การพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าว มีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้มีการปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนมีนาคมได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ -0.2% หลังจากดิ่งลง -0.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 โดยดัชนี PPI ดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง และสำหรับส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ ประจำเดือนมีนาคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 0.2% หลังจากปรับตัวลดลงสู่ระดับ -0.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเมื่อคืนวันศุกร์ที่ (10/4) ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐ ก็ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปประจำเดือนมีนาคมได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ -0.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยดัชนี CPI ทั่วไปได้รับแรงกดดันจากการดิ่งลงของราคาพลังงาน รวมทั้งราคาตั๋วเครื่องบิน และห้องพักโรงแรม รวมทั้งราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์ธนาคารกลางสหรัฐ ได้มีการประกาศอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจธนาคารกลางและขนาดย่อมที่มีพนักงานไม่กิน 10,000 คน และมีรายได้ไม่เกิน 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวจะมีวงเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่เกิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่ารวมมากกว่า 6.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตามในวันจันทร์ค่าเงินสกุลหลักได้มีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดในบางประเทศ อาทิ ยุโรป อังกฤษ ฮ่องกง ยังคงปิดทำการเนื่องในวันอีสเตอร์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.70-32.77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (13/4) ที่ระดับ 1.0930/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/4) ที่ระดับ 1.0929/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งขึ้นหลังจากเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (9/4) ที่ผ่านมา บรรดารัฐมนตรีคลังชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ได้บรรลุข้อตกลงเห็นชอบอนุมัติมาตรการช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มูลค่า 500,000 ล้านยูโร หรือราว 17.8 ล้านล้านบาท ความเห็นชอบดังกล่าวมีขึ้นหลังผ่านการหารือร่วมกันอย่างยาวนานที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดย Mario  Centeno ประธานกลุ่มยูโรได้กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมุ่งให้ความช่วยเหลือแรงงาน บริษัท และรัฐบาลในอียูที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19 ด้านสถานีโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษ ได้มีรายงานว่า ส่วนหนึ่งของมาตรการเยียวยาดังกล่าว คือ กองทุนช่วยเหลือ European Stability Mechanism (ESM) ซึ่งเป็นกลไกเพื่อรักษาเสถียรภาพของเขตสกุลเงินยุโรป ซึ่งจะใช้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านเงินกู้จำนวน 240,000 ล้านยูโร พร้อมทั้งยังมีแผนการลงทุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (European Investment Bank) มูลค่า  200,000 ล้านยูโร แต่อย่างไรก็ตามข้อเสนอของรัฐบาลฝรั่งเศสกับอิตาลีที่ต้องการให้มีการกระจายต้นทุนค่าใช้จ่ายของวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้ด้วยการออกพันธบัตรโคโรนา ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0924-10932 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0933/35

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตาดเช้าวันนี้ (30/3) ที่รดับ 108.07/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 108.35/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเมื่อวันศุกร์ (10/4) ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาค้าส่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของญี่ปุ่นประจำเดือนมีนาคมนั้น ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ -0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จากปัจจัยของการแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ได้กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นวงกว้าง แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.79–108.53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 08.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธนาคารกลางของออสเตรเลีย (NAB) ที่จะเปิดเผยในวันอังคาร (14/4), ดัชนียอดขายค้าปลีกของสหรัฐและดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ ที่จะเปิดเผยในวันพุธ (15/4), ตัวเลขอัตราการว่างงานของออสเตรเลีย, ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี, ดัชนีการผิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มยูโรโซน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ขอสหรัฐ ที่จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (16/4), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีนและดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนที่จะเปิดเผยในวันศุกร์ที่ (17/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.5/+1.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.3/+4.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ