กสิกรไทย ควักงบ 500 ล้านบาท พักหนี้เจ้าของธุรกิจ 6 เดือน ชะลอการเลิกจ้าง 1.5 หมื่นคน

กสิกรไทย ใจปล้ำควัก 500 ล้านบาท ช่วยอุ้มพนักงานระดับล่าง ผ่านโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” สั่งพักเงินต้น-ดอกเบี้ย 6 เดือนให้ผู้ประกอบการธุรกิจชะลอการเลิกจ้างงาน หลังพิษโควิด-19 ฉุดรายได้หาย นำร่อง 2 เครือโรงแรมใหญ่กะตะธานี และกะตะกรุ๊ป คาดทั้งโครงการอุ้มพนักงาน 1.5 หมื่นคนทั่วประเทศ

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการจ้างงาน โดยเฉพาะกลุ่มระดับล่างของระบบเศรษฐกิจที่มีรายได้เฉลี่ย 1-1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะได้รับผลกระทบหากเจ้าของธุรกิจต้องการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งวิธีการเร็วที่สุด คือ การลดพนักงาน ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบและช่วยเหลือคนระดับล่างของระบบเศรษฐกิจ ธนาคารจึงได้เตรียมวงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” โดยธนาคารจะช่วยเจ้าของธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารในการลดดอกเบี้ยและการชำระหนี้เป็นศูนย์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน และเจ้าของธุรกิจจะออกเงินอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อนำไปช่วยเหลือพนักงานที่อยู่ระดับล่างของระบบเศรษฐกิจ คาดว่าจะช่วนเหลือลูกจ้างระดับล่างได้ทั้งสิ้น 1.5 หมื่นคน

ทั้งนี้ โครงการ ”เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ดังกล่าวจะเริ่มต้นนำร่องในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีฐานลูกค้าธนาคารราว 100 ราย โดยเบื้องต้นจับมือ 2 เครือโรงแรมใหญ่กะตะธานี และกะตะกรุ๊ป ในการช่วยเหลือพนักงานระดับล่างผ่านโครงการดังกล่าว โดยคาดว่าจะช่วยพนักงานได้ราว 3,000 คน เป็นระยะเวลา 6 เดือน คิดเป็นเม็ดเงินราว 100 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน รูปแบบการช่วยเหลือผ่านโครงการดังกล่าว ธนาคารจะขยายเป็นโมเดลไปสู่จังหวัดอื่นๆ และเซ็กเตอร์อุตสาหกรรมอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยผู้ประกอบการจะเข้าร่วมโครงการ จะต้องประเมินได้ว่าได้รับผลกระทบจริง โดยผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจะต้องใช้วงเงินสินเชื่อกับธนาคารกสิกรไทย เพื่อที่ธนาคารจะได้ลดดอกเบี้ยให้ได้ทันที และมีการเปิดบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร (Payroll) ให้พนักงาน เพื่อความโปร่งใสของโครงการ และเพื่อพิสูจน์ได้ว่าพนักงานระดับล่างจะอยู่รอดได้

“เราตั้งงบไว้ 6 เดือนข้างหน้าไว้ที่ 500 ล้านบาท ซึ่งโมเดลนี้จะนำไปใช้ในทั่วประเทศ เพราะเราเชื่อว่าลูกจ้างระดับล่างของระบบจะต้องอยู่รอด โดยเราจะออกให้นายจ้างครึ่งหนึ่ง และนายจ้างออกเองครึ่งหนึ่ง เช่น ผู้ประกอบการต้องชำระหนี้แบงก์ 5,000 บาท เราจะแทงเป็นศูนย์ และผู้ประกอบการออกเองอีก 5,000 บาท เพื่อเก็บรักษาพนักงานเหล่านี้ไว้”

นายบัณฑูร กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการภาครัฐผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) มองว่า ภาครัฐจะต้องมีวิธีจัดการระบบธนาคาร แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อจะเสีย แต่จะต้องให้เงินที่เสียไปนั้นเข้าถึงมือคนล่างสุดของระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เข้ากระเป๋าเถ้าแก่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นใน 20 ปีก่อน ดังนั้น โจทย์ใหญ่ คือ จะต้องมีวิธีการควบคุมให้เงินเข้าตรงถึงมือผู้รับที่ถูกคน ซึ่งในส่วนของธนาคารสามารถรองรับความเสียหายได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่มีกำไรเลยก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะธนาคารมีฐานเงินทุนที่รองรับได้ ซึ่งแตกต่างวิกฤตครั้งก่อน

“ในช่วงที่เกิดวิกฤตระหว่างทางเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะประคองให้คนที่อยู่ล่างสุดของระบบให้อยู่รอดได้ โดยคนที่มีกำลังจะต้องให้คนไม่มี ซึ่งเป็นกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยดำรัสว่า ประเทศไทยอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะทุกคนยังมีการให้กัน” นายบัณฑูรกล่าว