ค่าเงินบาท​อยู่​ที่​ 32.60​ บ./ดอลลาร์​ กรอบ​ 32.55-32.75 บาท​ ลุ้นตัวเลข​เศรษฐกิจจีน​วันนี้​

ค่าเงินบาท​เปิดตลาด​เช้านี้​อยู่​ที่​ 32.60​ บาท/ดอลลาร์​ คาดกรอบเคลื่อนไหว​ 32.55-32.75 บาท​ จับตาจีนแถลงตัวเลข​เศรษฐกิจ​ไตรมาส​แรก​คาดหดตัว​ 6%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ เปิดเผย​ว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.68 บาทต่อดอลลาร์ โดย​กรอบเงินบาทวันนี้คาดเคลื่อนไหว​อยู่ระหว่าง​ 32.55-32.75 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้​ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐแกว่งตัวในกรอบกว้าง ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงก่อนแต่กลับมาปิดบวกได้ 0.6% ในช่วงท้ายโดยมีดัชนี Nasdaq ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากที่เคยลงไปติดลบลึกที่สุดในปีนี้ถึง 30% เหลือเพียง 13% ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสหรัฐนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็แถลงมาตรการเตรียมพร้อมยกเลิก Social Distancing ในอีกสี่สัปดาห์ข้างหน้าแม้จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อจากการระบาดของไวรัสในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นต่อ

สำหรับวันนี้ (17​ เม.ย.)​ ความน่าสนใจอยู่ที่การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกจะหดตัวลง 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็น 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ตัวเลขความถี่สูงอย่างผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนล่าสุด ที่คาดว่าจะปรับตัวลง 6.2% ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะปรับตัวลง 10% และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) จะหดตัว 15% กลับถือว่าเป็นการ “หดตัวน้อยลง” กว่าเดือนที่ผ่านมาทั้งหมด จึงอาจมองได้เช่นกันว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน อยู่ในขาลงแล้ว

ภาพดังกล่าวทำให้สกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) มีทิศทางที่แข็งค่ารอทันทีในเช้าวันนี้ นำโดยเงินวอนเกาหลีใต้ (KWR) ที่ปรับตัวขึ้นถึง 0.5% หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดชี้ว่าพรรค Democretic Party of Korea ของประธานาธิบดีมุนแจอิน ชนะการเลือกตั้งด้วยผลคะแนนโหวตสูงถึง 66.2% ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดในรอบ 28 ปี จากการรับมือและตอบสนองต่อวิกฤตการระบาดของโควิด-19 อย่างทันท่างทีในช่วงที่ผ่านมา

“ฝั่งของเงินบาท มองว่าจะเคลื่อนไหวตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียได้ แม้ในระยะสั้นหลายประเทศในฝั่งเอเชียจะยังไม่มีเงินทุนไหลเข้าในหุ้น แต่ก็เริ่มเห็นการกลับเข้าลงทุนในตราสารหนี้ของญี่ปุ่นและเกาหลีบ้าง จึงต้องจับตาว่าถ้าตลาดการเงินกลับเข้าสู่ภาวะเป็นปกติ และนักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ไทยเรียบร้อยแล้ว ก็อาจเห็นเงินลงทุนไหลกลับเข้าในตราสาร​หนี้​ (บอนด์)​ ไทยทั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป ซึ่งน่าจะเป็นแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าในอนาคต” ด​ร.จิ​ติ​พล​กล่าว​