เปิดไส้ใน พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท มอบดาบ ธปท.สั่งสถาบันการเงินพักหนี้ “เงินต้น-ดอกเบี้ย” ได้ทันที

มีผลบังคับใช้แล้ว! พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ให้กู้เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตีกรอบเกณฑ์รัฐชดเชย 60-70% กรณีเกิดหนี้เสียหลังพ้น 2 ปี 6 เดือนไปแล้ว ตั้งบอร์ดพิจารณาชดเชยปลัดคลังเป็นประธาน พร้อมมอบดาบ ธปท. สั่งสถาบันการเงินพักหนี้ “เงินต้น-ดอกเบี้ย” ได้ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 เม.ย.2563) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลนช่วยสภาพคล่องเอสเอ็มอี) โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตาม พ.ร.ก.นี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันทีนับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ สืบเนื่องจากที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการชะลอการชำระหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่คาดว่าจะลดลงอย่างรุนแรงจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้ภาคธุรกิจเกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้และอาจส่งผลกับฐานะทางการเงินและการทำหน้าที่ด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน อันอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงและยากต่อการแก้ไขในภายหลัง จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

สำหรับ พ.ร.ก.ดังกล่าว ประกอบด้วย 2 หมวด (หมวด 16 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติม และ หมวด 2 การชะลอการชำระหนี้) 15 มาตรา ซึ่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือเป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกินห้า 500 ล้านบาท และไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ทั้งที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อเพิ่มเติมนั้นกฎหมายกำหนดให้ ธปท. มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี

สำหรับการให้กู้ยืมดังกล่าว ในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับความเสียหาย ให้สถาบันการเงินที่ได้รับความเสียหายได้รับชดเชยความเสียหายตามที่ ธปท.กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า

  1. 70% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตาม พ.ร.ก.นี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562
  2. 60% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตาม พ.ร.ก. นี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562

โดยวิธีการคำนวณความเสียหายและความเสียหาย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนด ซึ่ง ธปท.จะดำเนินการคำนวณเงินชดเชย เมื่อครบ 2 ปี 6 เดือนนับแต่วันที่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ การชดเชยจะมีคณะกรรมการกำกับการจ่ายเงินชดเชย ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รองผู้ว่าการ ธปท. ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ พ.ร.ก. ยังให้อำนาจ ธปท. ในการสั่งให้สถาบันการเงินชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกินหนึ่ง 100 ล้านบาท หรือลูกหนี้อื่นได้ โดยที่การชะลอการชำระหนี้ดังกล่าวไม่ให้ถือว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้

ทั้งนี้ รายละเอียดของ พ.ร.ก. ดังกล่าว มีดังนี้ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0006.PDF