บล.กสิกรไทย ปรับเป้าหุ้นไทยสิ้นปีหน้า คาดทะลุ 1,760 จุด

บล.กสิกรไทย ปรับเป้าดัชนีฯ ปีนี้ บริเวณระดับ 1,640-1,700 จุด มองโอกาสทดสอบระดับ 1,700 จุดได้สำเร็จก่อนสิ้นปี คาดเป้าหมายสิ้นปีหน้ามีโอกาสทะลุระดับ 1,760 จุด ขณะที่สำนักวิจัยในไทยต่างพากันปรับเป้าสิ้นปีหน้าอยู่ในกรอบดัชนี 1,740-1,900 จุด

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทฯปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีฯ ตลาดหลักทรัพย์ของไทย (SET INDEX) ในปีนี้บริเวณระดับ 1,640-1,700 จุด และมีโอกาสทดสอบระดับ 1,700 จุด ได้สำเร็จภายในช่วงสิ้นปีนี้ จากเป้าเดิมกำหนดกรอบไว้ที่ 1,540-1,587 จุด เนื่องจากจุดเปลี่ยนสำคัญช่วงรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) งวดไตรมาส 2/60 ขยายตัวได้กว่า 3.5% ซึ่งมาจากปัจจัยหลักด้านการลงทุนภาคเอกชน ทำให้แรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้มองเห็นโอกาสและมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีหน้า

ทั้งนี้ หากพิจารณาเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ช่วงตั้งแต่วันที่ 28-29 ส.ค.60 ที่ผ่านมา พบว่ามีเงินทุนไหลเข้ามาประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ดัชนีฯดีดขึ้นไปเกินเป้าหมายเดิมที่วางไว้ หลังจากนั้นบริษัทฯ จึงได้มีการปรับเป้าหมายเพื่อไปใช้กรอบดัชนีฯของกลางปีหน้าบริเวณระดับ 1,650 จุด ซึ่งดัชนีฯตลาดหุ้นไทยยังสามารถทะยานเหนือระดับเช่นปัจจุบัน

ทำให้ บล.กสิกรไทย ได้มีการปรับเป้าดัชนีฯในช่วงสิ้นปี 2561 ที่คาดว่าจะอยู่บริเวณระดับ 1,760 จุด บน P/E 14.5 เท่า และ EPS จำนวน 127 บาท/หุ้น และมีโอกาสตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกำไรบริษัทจดทะเบียนจากปี 2560 ที่คาดว่าจะทำได้ถึง 9.9 แสนล้านบาท หลังจากครึ่งแรกที่ผ่านมาทำได้แล้ว 5.15 แสนล้านบาท ในขณะที่สำนักวิจัยในประเทศไทยต่างก็ปรับเป้าหมายสิ้นปีหน้า โดยให้กรอบดัชนีบริเวณระดับ 1,740-1,900 จุด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณที่ดี ทำให้ครึ่งปีหลังตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะเติบโตเกินกว่า 3.5% แน่นอน เพราะจะเริ่มเห็นการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐมากขึ้น รวมถึงรายได้ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเติบโตดี ทำให้นำไปสู่การอุปโภคบริโภคที่ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับธนาคารโลกและกลุ่มธนาคารต่างประเทศมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีของไทยจากเดิม 3-3.3% ปรับใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4%

นายประกิต กล่าวว่า และอีกสัญญาณที่ทำให้เราเชื่อมั่น คือ ประเด็นคาบสมุทรเกาหลี ทำให้กระแสเงินทุนจำเป็นต้องหาฐานที่ปลอดภัย ซึ่งหนึ่งในที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดคือประเทศไทย เพราะประเทศไทยถูกมองว่าเป็น Safe Heaven เนื่องจากสถานการณ์การเงินของไทยแข็งแรงและมั่นคงอย่างมาก โดยเฉพาะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับจีดีพีของไทย ถือว่าอยู่ติดอันดับ 10 ของโลก

ปัจจุบันเงินทุนไหลเข้าไปอยู่ในตราสารหนี้ค่อยข้างมากเช่นในอดีต โดยเฉพาะเดือนกันยายน 2560 มีเงินไหลเข้ามาแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเข้ามาประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียวเข้ามามากที่สุดในรอบ 15 เดือน จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำมาก และต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนพัธบัตรระยะยาวของสหรัฐปรากฎว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งจากเดิมไทยจะอยู่สูงกว่าเพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีเทียบเท่ากับสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นความน่าสนใจในตลาดตราสารหนี้ไทยเริ่มลดน้อยลง

ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยเริ่มเห็นการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีประมาณ 5-6% แต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับตลาดภูมิภาค เช่น ตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับเพิ่มขึ้นกว่า 12% เพราะฉะนั้นในแง่ของการเปรียบเทียบ valuation ตลาดหุ้นไทยปีนี้และปีหน้ามี P/E ค่อยข้างต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนสูงกว่าจึงเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มสูงขึ้น

นายประกิต กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศใน 2 ด้าน คือ 1.การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในปีนี้ และปรับเพิ่มขึ้นอีก 3 ครั้งในช่วงปีหน้า รวมถึงการลดขนาดงบดุลด้วยอัตราเร่งที่เร็วกว่าตลาดเคยคาดการณ์ไว้ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จะมีการลดขนาดงบดุล 1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ/เดือน และภายในตุลาคม ปี 2561 จะลดขนาดงบดุล 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ/เดือน แสดงให้เห็นว่าทุกไตรมาสจะมีการเพิ่มการลดขนาดงบดุลตลอดเวลา
หากมองในระยะยาว จะทำให้สภาพคล่องในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกลดน้อยลง รวมทั้งเป็นตัวกดดันทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การซื้อขายในตลาดหุ้นไทย หรือตลาดหุ้นทั่วโลก มี P/E ลดลง ในขณะที่ตลาดหุ้นจะอยู่ด้วยอัตราการเติบโตของกำไร ซึ่งหากมองในระยะสั้นอาจจะยังไม่กระทบมากนัก

2.ประเด็นคาบสมุทรเกาหลี ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าจะไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามอย่างแน่นอน เพราะตำแหน่งประเทศเกาหลีเหนือหากประเทศสหรัฐอเมริกาจะโจมตี จะกระทบกับประเทศจีนและรัสเซีย เนื่องจากตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์อยู่ใกล้กัน ซึ่งมองว่าทั้งสองประเทศคงไม่อยากที่จะให้เกิดสงครามขึ้นอย่างแน่นอน หากมองตลาดหุ้นในโซนเอเชียเหนือไม่ได้ปรับลดรุนแรงเพราะความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลยุทธ์การลงทุนช่วงที่เหลือในปีนี้ แนะนำซื้อตามดัชนีฯในกลุ่มหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังมีราคาต่ำ และมีแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังในช่วงงวดไตรมาส 3/60 และดีต่อเนื่องในช่วงงวดไตรมาส 4/60 โดยจะแนะนำกลุ่มหุ้นการเงิน กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มเหล็ก ได้แก่ MTLS, KCE, CPALL, HMPRO, PSH, SPALI, AMATA, WHA, TICON และ MCS ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ สำหรับกลุ่มหุ้นที่จะมีกำไรที่ดีและโดดเด่นในปี 2561 แนะนำหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐเป็นหลักคือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ STEC, UNIQ และ SYNTEC เป็นต้น