“โควิด” ทะลวงวินัยการคลัง กู้ 1 ล้านล้าน ดันหนี้ประเทศปริ่มเพดาน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ขณะที่ภาครัฐต้องทุ่มสรรพกำลังในการเข้าไปดูแล โดยเฉพาะด้านงบประมาณที่ต้อง “เกลี่ย” กันใหม่ เนื่องจากแต่เดิมงบประมาณประจำปี 2563-2564 ไม่ได้เตรียมการไว้สำหรับรองรับ “วิกฤต” ที่เพิ่งเข้ามานี้

อย่างกรณีงบประมาณปี 2563 ที่มีรายจ่ายภาพรวม 3.2 ล้านล้านบาทนั้น เดิมมีการตั้งงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไว้เพียง 9.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และที่ผ่านมามีการใช้จ่ายไปจนเกือบหมดเกลี้ยงแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดทำพระราชบัญญัติการโอนงบประมาณ เพื่อดึงเงินส่วนที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนมาใส่ไว้ในงบฯกลาง เพื่อเป็น “กระสุน” ในการดูแลแก้ปัญหาวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญ

โดยล่าสุดการโอนงบประมาณมีข้อสรุปออกมาแล้วว่า จะมีวงเงินทั้งสิ้น 100,395 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ให้มีการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่มีวงเงินรายจ่ายภาพรวมที่ 3.3 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาทอีกด้วย

ผ่อนวินัยการเงินการคลัง 2 ปี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้ออกประกาศกำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐใหม่ ใน 2 รายการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป

สำหรับรายการแรกเป็นการปรับปรุงสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จากกรอบเดิมกำหนดสัดส่วนที่ต้องตั้งงบฯไว้ที่ไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้องตั้งงบฯส่วนนี้ไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน 7.5%

โดย “เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า เป็นการปรับปรุงกรอบวินัยการเงินการคลังชั่วคราวในปีงบประมาณ 2563 รวมถึงต่อเนื่องในปี 2564 หากจำเป็นต้องมีการโอนงบประมาณเพื่อดูแลผลกระทบโควิด-19 อีก

อย่างไรก็ดี ขณะนี้รัฐบาลมีการให้แต่ละกระทรวงปรับลดงบประมาณในปี 2564 โดยลดลงบฯลงทุน 50% และ งบฯ ประจำอีก 25% เพื่อเตรียมไว้รับมือการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด แต่ทั้งนี้ หากสถานการณ์ลากยาวไปนานกว่านั้น รัฐบาลก็สามารถออก พ.ร.บ.โอนงบฯ ได้อีก เป็น “กระสุนสำรอง” ที่เตรียมไว้

“งบฯ ส่วนที่จะโอนเข้างบฯกลาง เมื่อโอนมาแล้วจะทำให้งบฯกลางฉุกเฉินฯ มีสัดส่วนประมาณ 6.7% อยู่ภายในกรอบที่ขยายเป็นไม่เกิน 7.5% ส่วนปี 2564 มีการตั้งงบฯกลางรายการดังกล่าวไว้ที่ 3% แต่กรอบที่ปรับก็คงเผื่อไว้ ในกรณีถ้าโควิดยังไม่จบ ก็จะได้ไม่ต้องมาปรับกันอีก” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

ตัดงบฯคืนหนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนอีกรายการเป็นการปรับปรุงสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระ จากกรอบเดิมกำหนดต้องตั้งไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้องตั้งไม่น้อยกว่า 1.5% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

“เนื่องจากกระทรวงการคลังเสนอว่า มีงบฯชำระคืนต้นเงินกู้ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ที่สามารถโอนเข้างบฯกลางฉุกเฉินฯได้ ซึ่งเขาบอกว่าสามารถบริหารจัดการการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ ไม่มีผลกระทบ จึงขยายกรอบในส่วนดังกล่าวไปด้วย” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังบอกว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะใช้การปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายเวลาชำระหนี้ (rollover) ออกไป ในวงเงินราว 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้สัดส่วนงบฯชำระคืนต้นเงินกู้ในปีงบประมาณ 2563 ลดลงต่ำกว่า 2% แต่ยังสูงกว่า 1.5% ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวจะโอนไปใส่ในงบฯกลางฉุกเฉินฯต่อไป

ตีกรอบกู้ 6 แสนล้านใน ก.ย.

ขณะที่ “แพตริเซีย มงคลวนิช” ผู้อำนวยการ สบน.ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่มี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) ใหม่ โดยจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทด้วย ซึ่งจะใส่กรอบวงเงินกู้ไว้ในปีงบประมาณนี้ในส่วนของวงเงิน 6 แสนล้านบาท ที่จะใช้จ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขก่อน ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท คาดว่าจะใส่ไว้ในแผนกู้ปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-ก.ย. 64) ต่อไป ทั้งนี้ การกู้เงินจะเน้นแหล่งเงินในประเทศเป็นหลักไม่ต่ำกว่า 80% ส่วนเงินกู้ต่างประเทศจะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ก็มีธนาคารโลก รวมถึงธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่พร้อมให้กู้ได้

“งวดแรกจะกู้เงินในกรอบวงเงิน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้แรงงาน ลูกจ้าง อาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะจ่ายเงินให้ประชาชนได้ ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ซึ่งการกู้เงินจะใช้เครื่องมือระยะสั้น เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) อายุเงินกู้ 4 ปี ขณะนี้ได้ส่งหนังสือชี้ชวนไปยังสถาบันการเงิน เพื่อให้เข้ามาประมูล ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ โดยจะเลือกกู้จากสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด” นางแพตริเซียกล่าว

ส่วนระยะต่อไป กระทรวงการคลังมีแผนจะออกพันธบัตรออมทรัพย์วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท โดยใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ดังกล่าว เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนรายย่อยด้วย ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูประเทศ

เล็งขยับกรอบความยั่งยืน

ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวด้วยว่า เนื่องจากปีงบประมาณ 2563 นี้ มีการขยายวงเงินก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติม จากเดิม 8.9 แสนล้านบาท เป็น 1.497 ล้านล้านบาท จึงประมาณการว่า ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณจะอยู่ที่ 51.84% ของ GDP จากปัจจุบันอยู่ที่ 41-42% และจะเพิ่มเป็น 57.96% ในสิ้นปีงบประมาณ 2564 หากมีการกู้เต็มวงเงิน 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ทั้งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณต่างยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องเสนอปรับกรอบวินัยการเงินการคลัง ในส่วนของกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกิน 60% เนื่องจากแม้จะกู้เงินเต็ม 1 ล้านล้านบาท ระดับหนี้สาธารณะก็ยังไม่เกินกรอบดังกล่าว

ส่วนในอนาคต หากจำเป็นต้องกู้จนหนี้สาธารณะเกินกรอบดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงมีการเสนอปรับขยายกรอบต่อไป