ค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวในกรอบรอการประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/4) ที่ระดับ 32.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/3) ที่ระดับ 32.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงทรงตัว โดยนักลงทุนจับตาดูความคืบหน้าของสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากวันที่ 24 เมษายน 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า Remdesivir ซึ่งเป็นยาที่บริษัท Gilead Sciences กล่าวว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโคโรน่านั้นไม่สามารถเร่งอัตราการฟื้นตัวของผู้ป่วยเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งไม่สามารถป้องกันผู้ป่วยจากการเสียชีวิตได้

นอกจากนั้น วันนี้ (27/4) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (สบค.) มีมติเห็นชอบต่อเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิวทั่วประเทศออกไปอีก 1 เดือน และ ศบค.ยังมีมติให้ยกเลิกวันหยุดพิเศษ-วันหยุดราชการทุกวันในเดือนพฤษภาคม โดยจะมีการชดเชยให้ในภายหลัง ในส่วนของห้างสรรพสินค้าตลาดนัด ร้านค้าขนาดเล็ก และร้านตัดผมนั้น ศบค.เตรียมมาตรการผ่อนคลายอนุญาตให้เปิดภายใต้เงื่อนไข โดยจะเริ่มวันที่ 4 พฤษภาคม 2563

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นเคลื่อนไหวในกรอบ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ (Durable Goods Orders) ประจำเดือนมีนาคมออกมาลดลงร้อยละ 14.4 หดตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และมหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ (Consumer Sentiment) ประจำเดือนเมษายน ที่ 71.8 ลดลงจากระดับ 89.10 ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี การที่ราคาน้ำมันเริ่มกลับมามีเสถียรภาพและสหรัฐผ่านร่างกฎหมายมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความน่าสนใจของการถือครองดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยลดลงเทียบกับก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.43-31.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (27/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0811/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/6) ที่ระดับ 1.0761/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เงินสกุลยูโรฟื้นตัวด้วยแรงหนุนจากประกาศของสหภาพยุโรป ซึ่งกล่าวถึงการบรรลุข้อตกลงในการตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวงเงิน 1.5 ล้านล้านยูโร อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกนั้นถูกจำกัดจากการที่มีผู้นำของสหภาพยุโรปยังคงมีความเห็นต่างกันในเรื่องของวิธีการให้ความช่วยเหลือว่าควรเป็นการให้กู้หรือให้เปล่า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0811-1.0845 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0840/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (27/4) เปิดตลาดที่ระดับ 107.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/4) ที่ระดับ 107.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนทรงตัวหลังจากที่วันนี้ (27/4) ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.10 ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.15-107.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.15/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าสหรัฐ มี.ค. (28/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐโดยสถาบัน CB เม.ย. (28/4) อัตราดอกเบี้ยนโยบายญี่ปุ่น (28/4), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย มี.ค. (29/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยุโรป เม.ย. (29/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เยอรมัน เม.ย. (29/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหรัฐ ไตรมาส 1 (29/4), ยอดขายบ้านที่รอการเปิดการขาย (Pending Home Sales) สหรัฐ มี.ค. (29/4), อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (30/4), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มี.ค. (30/4), ดัชนียอดขายปลีกญี่ปุ่น มี.ค. (30/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Composite PMI, Manufacturing PMI และ Non-Manufacturing PMI) จีน เม.ย. (30/4), ดัชนียอดขายปลีกเยอรมัน มี.ค. (30/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ฝรั่งเศส เม.ย. (29/4), ดุลการค้าไทย มี.ค. (30/4), ดัชนีการว่างงานเยอรมัน เม.ย. (30/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยุโรป เม.ย. (30/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ยุโรป ไตรมาส 1 (30/4), ดัชนีการว่างงานยุโรป มี.ค. (30/4), อัตราดอกเบี้ยนโยบายยุโรป (30/4), จำนวนคนยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน (Initial Jobless Claims) สหรัฐ (30/4), ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Core Personal Consumptio Expenditure : PCE) สหรัฐ มี.ค. (30/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ญี่ปุ่น เม.ย. (1/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิต (Manufacturing PMI) สหรัฐ โดยสถาบัน ISM เม.ย. (1/5)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap poing) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.50/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.80/+1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ