ธปท. กดปุ่มปล่อย “ซอฟต์โลน” พยุงจ้างงาน 12 ล้านคน

ธปท. กดปุ่มปล่อยซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ให้แบงก์เริ่มส่งคำขอกู้ 27 เม.ย.นี้คาดอนุมัติใน 1 สัปดาห์ “TMB Analytics” หนุนแบงก์อัดฉีดซอฟต์โลนอุ้มเอสเอ็มอี “รอด” ช่วยรักษาการจ้างงาน 12 ล้านคนทั่วประเทศ ชูโมเดล “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” ปลดล็อกสภาพคล่องธุรกิจไหลเข้าเร็วขึ้น 1.1 หมื่นล้านบาท/วัน ฟาก “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย” พร้อมเติมสภาพคล่องช่วยเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤตโควิด-19

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. พร้อมให้สถาบันการเงินยื่นรายชื่อลูกหนี้ และจำนวนเงินที่จะขอไปให้ความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป และเมื่อ ธปท.ตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์แล้ว สถาบันการเงินจะแจ้งผลการอนุมัติให้ทราบภายใน 10 วัน โดยคาดว่าจะเร่งโอนเงินให้ลูกหนี้ได้ภายในปลายสัปดาห์

“ธปท.ได้เร่งกำชับให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ที่เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด และหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ SMEs ทำให้ SMEs มีเงินสดในมือเพื่อรองรับรายจ่ายจำเป็น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน นอกจากนี้ ธปท.คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนนี้ สถาบันการเงินจะต้องหารือร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้”

รณดล นุ่มนนท์

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พบว่าในแง่มุมของผู้ประกอบการด้วยกันเอง ธุรกิจรายใหญ่สามารถอัดฉีดสภาพคล่องให้ SMEs ในโมเดล “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไหลเข้าเร็วขึ้นเฉลี่ย 1.1 หมื่นล้านบาทต่อวัน หรือ 3,500 บาทต่อราย เพิ่มเติมจากที่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการภาครัฐ และสถาบันการเงินในขณะนี้ เพื่อช่วยให้ SMEs อยู่รอดและไปต่อได้ ที่สำคัญช่วยรักษาการจ้างงานที่มีอยู่เกือบ 12 ล้านคนทั่วประเทศ

โดย TMB Analytics มองกลไกความช่วยเหลือที่เกิดจากผู้ประกอบการด้วยกันเองในซัพพลายเชน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สภาพคล่อง SMEs ดีขึ้นได้ โดยใช้โมเดล “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” กล่าวคือ ธุรกิจรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคบริการ ล้วนมีซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งการจ่ายเงินแบบมีระยะเวลาการจ่าย (credit term) หรือเป็นเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจ (account payable) แทนการจ่ายสดทันทีที่ได้รับสินค้า หากรายใหญ่ในทุกภาคธุรกิจช่วยเหลือ SMEs โดย “เปลี่ยนจากจ่ายเชื่อเป็นจ่ายสด” ให้เร็วขึ้น

“จากการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลงบการเงินธุรกิจ พบว่าเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจรายใหญ่รวมกันอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท หากธุรกิจรายใหญ่จ่ายเป็นเงินสดให้ลูกค้ารายเล็กเร็วขึ้น 1 วัน จะทำให้ SMEs มีเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจภาพรวมถึง 1.1 หมื่นล้านบาท/วัน หรือราว 3,500 บาท/ราย โดย SMEs ภาคการผลิตได้รับเร็วขึ้น 8,717 บาท/คน/วัน ภาคการค้าอยู่ที่ 2,466 บาท/คน/วัน และภาคบริการ 1,543 บาท/คน/วัน ดังนั้นรายใหญ่ช่วยรายเล็ก จะช่วยให้ SMEs ได้รับเงินสดเร็วขึ้นกว่าปกติเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนและเป็นสภาพคล่องในธุรกิจ สามารถรักษาการจ้างงานได้ และพร้อมที่จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น”

นายนริศกล่าวด้วยว่า การเยียวยา SMEs ไม่เพียงเพื่อ SMEs อยู่รอด แต่เป็นการช่วยเหลือการจ้างงานของครัวเรือนในทุกภาคของประเทศด้วย เนื่องจาก SMEs ที่มีการจดทะเบียนทั้งประเทศกว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานจำนวนมากประมาณ 12 ล้านคน กระจายอยู่ทั้งภาคบริการ (3.9 ล้านคน) ภาคการค้า (3.8 ล้านคน) และภาคการผลิต (3.4 ล้านคน)

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางและได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยที่ผ่านมาธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย รวมถึงการปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ ธนาคารจะเริ่มให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ตามนโยบายของ ธปท.ภายใต้โครงการ “รวมใจไม่ทิ้งกัน” วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า วันที่ 27 เม.ย.นี้ธนาคารจะเริ่มปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ SMEs โดยให้วงเงิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี ฟรีดอกเบี้ยและไม่ต้องชำระเงินต้นใน 6 เดือนแรก สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท