“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” หวั่นจีดีพีไทยปี’63 เสี่ยงติดลบ 10%

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ภาคบริการ “สายการบิน-โรงแรม” อ่วม จากมาตรการโซเชียล ดิสแทนซิ่ง ที่กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของธุรกิจกระทบต้นทุนธุรกิจพุ่ง-ทำกำไรยาก หั่นจีดีพีปี’63 ใกล้ติดลบ 10% หากโควิดระบาดรอบ 2

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยในการแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ร่วมกับ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) บนหัวข้อ “มองประเทศไทยกับการรับมือ COVID-19 และ New normal หลังวิกฤตโรคระบาด” ว่า บรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ในมุมของพฤติกรรมผู้บริโภค การค้า และการลงทุนจากสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ 2019 (โควิด-19) ต้องยอมรับว่าภาคบริการที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

เช่น กรณีของธุรกิจการบินที่เดิมที่บรรทุกผู้โดยสารได้ 400 คน หลังเกิดโควิด-19 บรรทุกได้เพียง 200 คนเท่านั้น เนื่องจากต้องให้ผู้โดยสารรักษาระยะห่าง (Social Distancing) เป็นต้น ส่งผลให้อัตราบรรทุกผู้โดยสารลดลงเฉลี่ยต่อลำ (Load Factor) ไม่เพียงพอ และจะส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสูงมากขึ้น รวมถึงธุรกิจโรงแรมที่คาดว่าหลังจากนี้ลูกค้าจะไม่สามารถอยู่ใกล้ชิดกันได้เช่นเดิมในลักษณะต่าง ๆ

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวจะกลายเป็นการท่องเที่ยวในลักษณะการจัดนำเที่ยวแบบเช่าเหมาลำ (Charter Tour) มากขึ้น เพื่อจำกัดคนในกลุ่มของตนเอง รวมถึงการวางแผนการท่องเที่ยวเชื่อว่าจะเน้นความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

เมื่อสอบถามถึงกรณีประเทศเกาหลีใต้ที่มีแนวคิดตั้งโรงพยาบาลไว้ที่สนามบินเพื่อรักษาและส่งกลับไปยังประเทศต้นทางนั้น นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยและอยากให้ประเทศไทยทำตรงกันข้ามกับประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเปรียบเสมือนการรับผู้ป่วยหนักเข้ามารักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นป่วยหนัก และเป็นคนส่วนใหญ่ของโลกลังเลที่จะเดินทางมายังประเทศไทย

“ถ้าเป็นผม ผมอยากจะขายประเทศไทยในลักษณะที่เป็นระบบสาธารณสุขที่ดีมากให้ต่างชาติเขาเกิดความมั่นใจว่ามาที่ประเทศไทยแล้วมี ‘Wellness’ เกิดขึ้น คือ มีสุขอนามัยที่ดี พอมาเมืองไทยนอกจากจะรู้สึกดีจากสุขภาพดีแล้ว เที่ยวสนุกแล้ว อาหารอร่อยแล้ว ยังมีความปลอดภัยทางสุขภาพด้วย เป็นผมจะขายตรงนี้ เพราะคิดว่าตรงนี้จะมีพรีเมียมด้วยซ้ำ” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

ขณะที่โลกหลังโควิด-19 ประเมินว่าห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) จะถูกบีบให้เล็กลง เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่กล้ากระจายการผลิตไปทั่วโลก โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงทางสุขภาพ หากประเทศไทยต้องการเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่เล็กลงนั้น มองว่า ความสามารถและความมั่นคงด้านสาธารณสุขจะเปรียบเสมือนตั๋วผ่านเข้าไปยังห่วงโซ่อุปทานใหม่ หากเข้าไปได้คาดว่าจะมีพรีเมี่ยมทางเศรษฐกิจต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป

“อยากจะให้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส และสามารถโฆษณาประเทศไทยได้ว่าเราเป็นที่ ๆ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต่าง ๆ อยากจะให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของเขา” นายศุภวุฒิกล่าว

ในมุมของเศรษฐกิจ นายศุภวุฒิกล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลทำไม่ไช่วิธีแก้ไขปัญหา เพียงแต่ช่วยพยุงให้ไม่เกิดความเสียหายรุนแรงต่อบริษัทและประชาชน โดยชี้ว่ามาตรการรัฐบาลดำเนินการช่วยคงสถานะของผู้ผลิตให้เป็นผู้ผลิต และคงสถานะของพนักงานให้เป็นพนักงานเท่านั้น

“แต่เราสั่งเขาห้ามผลิตยังไงก็ไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น ที่จะตอบโจทย์คือทำอย่างไรให้สามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ รัฐบาลจะได้ไม่ต้องใส่เงินให้พวกเราเดือนละ 5,000 บาท เพราะเราไม่มีงานทำ” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าโลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยนอกจากภาคบริการที่กล่าวไปข้างต้น เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในภาคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรไว้ 4 แสนล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาเพื่อให้คณะกรรมการตรวจดูและส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวกลับมองว่ารัฐบาลควรประเมินภาพใหญ่ว่าต้องการให้ประเทศไปยืนอยู่ในจุดไหนในเศรษฐกิจโลกใหม่เช่นนี้ และแปลงโจทย์ดังกล่าวกลับมาเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อชี้นำให้หน่วยงานระดับข้างล่างที่จะเสนอโครงการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันขึ้นมา เช่น การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) และการแพทย์ (Healthcare) หลังการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ (Mass Tourism) อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบันมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และอาจทำไม่ได้อย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงไม่มีกำไรเท่ากับ Medical Tourism เป็นต้น

“นอกจาก Medical Tourism แล้วทำอย่างอื่นได้หรือไม่ หากเราจัดว่าตัวเองอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกได้ จากที่เรามีความมั่นคงด้านสาธารณสุข เราจะจัดตำแหน่งตัวเองในห่วงโซ่อุปทานตรงไหนอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดลงไปข้างล่าง (Top-Down) และจะต้องประเมินภาพของเศรษฐกิจโลกให้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะไปทางไหน และเราควรเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหนของการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการสูงถึง 60-70% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปิดและฟื้นเศรษฐกิจในประเทศก่อน แม้เศรษฐกิจนอกประเทศอาจจะยังปิดอยู่ก็ตาม โดยประเมินว่าหากประเทศไทยปิดเศรษฐกิจเต็มรูปแบบอีกประมาณ 2 เดือน เศรษฐกิจไทยน่าจะเอาไม่อยู่

เมื่อสอบถามถึงบทเรียนที่ประเทศไทยได้รับจากโควิด-19 ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องเตรียมการเพื่อรับมือปัญหาด้านสุขภาพ และโรคติดต่อครั้งต่อไปเช่นกัน นอกเหนือจากความพยายามจะฟื้นเศรษฐกิจในรอบนี้ โดยเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่แนวโน้มปัจจุบันคนไทยวัย 40 ปี เริ่มหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยให้ประชาชนแก่ตัวโดยมีสุขภาพที่ยั่งยืน

ส่วนโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างเดิมขึ้นอยู่กับโควิด-19 หากไม่มีการแพร่ระบาดรอบ 2 เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะสามารถกลับมาดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นประเมินว่าจีดีพีประเทศไทยปี 2563 มีโอกาสติดลบใกล้ 10% มากกว่าใกล้ติดลบ 5% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้อย่างช้า ๆ และเศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าประเทศไทย

ส่วนการกลับเข้าสู่ภาวะปกติในกรณีที่มีวัคซีนป้องกันโรค ดร.ศุภวุฒิ ประเมินว่า อย่างเร็วช่วงกลางปี 2564 อาจมีวัคซีนรักษาโรคออกมา อย่างไรก็ดี อาจเกิดกรณีไม่มีวัคซีนรักษาโรคออกมาอย่างเช่นในโรค HIV เป็นต้น หากเป็นกรณีหลังเชื่อว่ามีโอกาสที่จะหาวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรค บรรเทาอาการ และควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตได้ แต่การรักษาระยะห่างที่เป็นบรรทัดฐานใหม่ของโลกจะกลายเป็นเรื่องถาวร และจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในด้านบริการอย่างมาก

“เพราะฉะนั้นจีดีพีของโลกอาจจะเริ่มใหม่ เช่น เดิมทีก่อนโควิด-19 จีดีพีอยู่ที่ 100 อาจตกมาอยู่ที่ 90 และมาเริ่มฟื้นตัวจาก 90 ใหม่” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว