ดอลลาร์ทรงตัว นักลงทุนจับตาผลการประชุมธนาคารสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 28 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/4) ที่ระดับ 32.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (27/4) ที่ระดับ 32.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวในกรอบแคบ ภายหลังจากที่หลายรัฐในสหรัฐ เช่น รัฐอลาสสกา, จอร์เจีย, เซาธ์ แคโรไลนา, เทนเนสซี และเท็กซัส เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามนักลงทุนบางส่วนยังคงกังวลกับสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลก โดยราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI เดือนมิถุนายน ได้ปรับลด 24% ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจากอุปสงค์และอุปทานน้ำมันที่ไม่สมดุลรวมไปถึงการจัดเก็บน้ำมันดิบที่ยังมีข้อจำกัด ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตารายงานผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะช่วยหนุนเศรษฐกิจจากการใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมได้

สำหรับปัจจัยในประเทศ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครในวันนี้ (28/4) ว่า กรุงเทพมหานครเตรียมออกมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยกรุงเทพมหานคร เสนอแนวทางผ่อนปรน 8 ประเภท สถานที่ให้สามารถเปิดได้ โดยต้องทำตามมาตรการที่กำหนดโดยสถานที่ 8 ประเภทให้บริการมีดังนี้ ตลาด, ตลาดนัด, ร้านอาหาร, ร้านเสริมสวย, ฟิตเนส, สนามกอล์ฟ, สถานพยาบาล, สวนสาธารณะ โดยมาตรการดังกล่าวจะนำเข้าประชุมในคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในวันพรุ่งนี้ (29/4) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.44-32.53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/4) ที่ระดับ 1.0830/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/4) ที่ระดับ 1.0846/49 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดัน จากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการการช่วยเหลือของคณะธรรมาธิการยุโรป ว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถ่วยเหลือประเทศสเปน และอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในยูโรโซนได้ อย่างไรก็ตามอิตาลีซึ่งเป็นประเทศอันดับสองที่มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 4 พฤษภาคม โดยนายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี กล่าวว่า จะผ่อนปรนให้กับภาคการก่อสร้าง และภาคการผลิตก่อนเพื่อเริ่มเปิดเศรษฐกิจและให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามปกติอีกครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0809-1.0857 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0849/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/4) ที่ระดับ 107.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/4) ที่ระดับ 107.17/19 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนอ่อนลงหลังจากวานนี้ (28/4) ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งรวมไปถึงการยกเลิกเพดานการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล และขยายโครงการซื้อสินทรัพย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามนักลงทุนขายสินทรัพย์ปลอดภัยบางส่วนเช่นกัน หลังสหรัฐ และยูโรโซนเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดีการอ่อนค่าเป็นไปอย่างจำกัดเพราะนักลงทุนยังกังวลด้านผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านราคาน้ำมัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.00-107.33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนมีนาคม (28/4), การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส 1/63 (29/4), ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายของสหรัฐ เดือนมีนาคม (29/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคขอเยอรมนี เดือนเมษายน (29/4), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือนมีนาคม (29/4), การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (30/4), การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของยุโรป (30/4), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคของสหรัฐเดือนมีนาคม (30/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนมีนาคม (30/4), การเปลี่ยนแปลงการว่างงานของเยอรมนี เดือนเมษายน (30/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน เดือนเมษายน (30/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (30/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ โดย ISM เดือนเมษายน (1/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของอังกฤษ เดือนเมษายน (1/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.00/+0.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.80/+1.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ