ธปท.กดปุ่มเปิดให้เอกชนขอเงิน “กองทุนหุ้นกู้” 4 แสนล้าน ตั้ง บลจ.กรุงไทยคุม

ธปท.ดีเดย์เปิดให้บริษัทยื่นเข้าโครงการกองทุน BSF หลังประกาศกรอบแนวทางนโยบาย ยันดูแลเฉพาะตราสารระดับ investment grade เหตุมีผลกระทบประชาชนวงกว้างสัดส่วนสูง 90% ของมูลค่าตลาด 3.6 ล้านล้านบาท ย้ำเป็นแหล่งเงินทุนสุดท้าย-ต้นทุนแพงวงเงินเกิน 30% ของวงเงินครบกำหนดคิดดอกเบี้ย +2% ระบุตั้งบลจ.กรุงไทย รับผิดชอบการลงทุน-มอนิเตอร์ ควบคุมภายใต้ 2 คณะกรรมการ SC-IC

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะ เลขานุการ คณะกรรมการกำกับกองทุน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (29 เมษายน 2563) บริษัทต่างๆ ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) สามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปถึง 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าวงเงินจะครบกำหนด 4 แสนล้านบาท ภายหลังจากคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุน BSF ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุน BSF

สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน นอกจากนั้นต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade เท่านั้น และจะต้องทำ Issue Rating ของ Fitch หรือ Tris ก็ได้ รวมถึงมีแผนจัดหาแหล่งเงินทุนในอนาคตชัดเจน

“กองทุนไม่ครอบคลุมตราสารหนี้ที่ต่ำกว่าระดับ Non-investment Grade มีการเขียนเงื่อนไขชัดเจน และหากดูตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมดมูลค่ารวม 3.6 ล้านล้านบาท พบว่ากว่า 90% อยู่ในระดับ Investment Grade และส่วนใหญ่ระดมทุนกับประชาชนทั่วไป (Public Offering – PO) ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจเป็นผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงมีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงค่อนข้างสูง ขณะที่ Non-investment Grade ส่วนใหญ่จะเป็นการขายให้กับผู้ลงทุนเฉพาะและผู้ลงทุนรายใหญ่ รวมถึงมีมูลค่ารวมไม่สูงเท่าตราสารหนี้ระดับแรก และมีการดูแลแยกกันครบทุกภาคส่วน”

ส่วนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด โดยอาจจะมาจากการระดมทุนในตลาด 20% และการขอสินเชื่อสถาบันการเงินอีก 20% รวมถึงจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งนี้ กองทุน BSF เป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน ด้วยต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF ที่สูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับวงเงินไม่เกิน 30% จะอยู่ที่ +1% และกรณีวงเงินเกิน 30% ของวงเงินครบกำหนดจะคิดอัตราดอกเบี้ย +2% เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

และเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลที่ดี

ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF สามารถยื่นขอต่อเลขานุการคณะกรรมการลงทุน โดยระบุเหตุผลความจำเป็นในการขอรับความช่วยเหลือ พร้อมเอกสารตามที่กำหนดก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 เดือนแรก อนุโลมให้บริษัทสามารถยื่นขอความช่วยเหลือก่อนครบกำหนดไถ่ถอนได้ภายใน 15 วัน ขณะเดียวกัน บริษัทสามารถไถ่ถอนได้หากพบว่าไม่อยากให้วงเงินช่วยเหลือจากกองทุน BSF โดยจะต้องแจ้งล่วงหน้าภายใน 5 วัน

“การจัดตั้งกองทุน BSF ดังกล่าว เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น เปรียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้มี last resort ในการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยไม่ได้ช่วยทั้งหมดหรือช่วยทุกรายที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ถ้ามีคนมาใช้น้อยก็จะยิ่งดี เพราะหมายความว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ”

นางสาววชิรา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงสร้างการบริหารกองทุน BSF จะประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการกำกับกองทุน (Steering Committee: SC) มีหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบการลงทุน และบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วย ปลัดคลัง ผู้ว่าการธปท. ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก

และคณะกรรมการลงทุน (Investment Committee: IC) มีหน้าที่ คัดเลือกตราสารหนี้ภายใต้กรอบการลงทุนที่ SC กำหนด คัดเลือกที่ปรึกษา และรายงานผลการดำเนินงานให้ SC ทุก 3 เดือน ประกอบกับด้วย ตัวแทนจากธปท. ตัวแทนจากสบน. ตัวแทนจากกบข. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ทั้งนี้ คณะกรรมการ SC และ IC ได้คัดเลือก บลจ.กรุงไทย (KTAM) ทำหน้าที่ดูการลงทุนตามที่ IC กำหนด รวมถึงมีการมอร์นิเตอร์ระหว่างที่ลงทุน เพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ จะมีการเผยแพร่ผ่านเว็ปของ KTAM ในหมวดกองทุนรวม process การยื่นขอ ฯลฯ

ส่วนกรณีการชดเชยความเสียหายจากกระทรวงการคลังวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทนั้น ธปท.ได้มีการประมาณการตั้งสมมติฐาน รวมถึงทำการทดสอบ Stress Test ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน ถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาด้านเครดิตจนลามไปสู่ระบบสถาบันการเงิน พบว่า วงเงิน 4 หมื่นล้านบาทน่าจะเพียงพอ และหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้

“ภาพรวมตลาดตอนนี้จะเห็นว่าเมื่อเทียบเดือนมีนาคมเริ่มเห็นนักลงทุนมีความมั่นใจที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นกับปัจจัยของการระบาดของไวรัสโควิด-19 และหากมีการล็อกดาวน์ รวมถึงสถานการณ์ในต่างประเทศด้วย ซึ่งเราจะมาช่วยดูแลเรื่องสภพคล่องในระบบ”