“สมคิด” อัดเงินกู้ 4 แสนล้าน เข้า “กองทุนหมู่บ้าน-มูลนิธิ”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวไปกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอโครงการขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ก้อน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน พ.ค.นี้ คาดว่าขั้นตอนจะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือน พ.ค. และหลังจากนั้นหน่วยงานต่าง ๆ จะสามารถเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ และหากเป็นไปตามแผนช่วงเดือน มิ.ย. จะมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติออกมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

“ขณะนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าว เน้นการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งหลังสิ้นการเยียวยาแล้วจะต้องมีโครงการออมการดูแลประชาชน เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้อย่างไม่หยุดชะงัก ก่อนที่จะเข้าสู่ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเปิดกว้างให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเสนอขอใช้เงิน พ.ร.ก.กู้เงินได้ เช่น กองทุนหมู่บ้าน มูลนิธิ และอื่นๆ โดยจะมีการชี้แจงหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานต่างๆ ทราบในรายละเอียดอีกครั้ง” นายสมคิดกล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจะต้องกำหนด ก่อนหน่วยงานต่างๆ จะเสนอโครงการเข้ามานั้น  จะต้องเป็นโครงการที่สร้างงาน สร้างรายได้อย่างเป็นนัยสำคัญ จะเน้นโครงการที่สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ท้องถิ่น และจังหวัด เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ด้วยการใช้แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบส่วนของการเกษตร แหล่งน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานในชนบท จะไม่ใช่รูปแบบโครงการใหญ่ๆ แต่จะต้องมีการตอบสนองทางเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ ยังรวมถึงภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด จะใช้จังหวะนี้ให้เป็นโอกาสในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด และหากมีการผลิตในท้องถิ่น ก็จะพัฒนาแพลฟอร์มดิจิทัล ไอที ดีลิเวอรี่ ในการขนส่งสินค้าให้เป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจในท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น และที่สำคัญจะต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นด้วย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564 จะมีการเตรียมปรับโครงการต่างๆ ให้เป็นโครงการที่สามารถสร้างงานได้มากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 เพิ่งเป็นการเริ่มต้น ซึ่งจะเริ่มเห็นผลของเศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงไตรมาส 2 ฉะนั้น หากมีการเตรียมตัวไว้ทุกทางทั้งมาตรการเยียวยา และหลังจากนั้นก็ต่อด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทุกอย่างก็จะปลอดภัย