แบงก์รุมชิงซอฟต์โลน 5 แสนล้าน จัดทีมพิเศษประกบ “เอสเอ็มอี”

แบงก์เร่งตั้งทีมพิเศษลุยปล่อยกู้ซอฟต์โลน ธปท. 5 แสนล้าน วงในเผยดอกเบี้ยต่ำ 2% เป็นที่ต้องการสูง ขณะที่คลังช่วยรับหนี้เสีย 60-70% แบงก์พร้อมปล่อยกู้ช่วยลูกหนี้เต็มที่ “กสิกรไทย” จัดพอร์ตลูกหนี้ใหม่ ระดมทีมงานสายตรง “ลูกหนี้เอสเอ็มอี” ธปท.เปิดข้อมูลวันแรกวงเงินกู้ 2.2 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยได้เปิดให้ธนาคารยื่นขอซอฟต์โลนเมื่อ 27 เมษายน 2563 เป็นวันแรก ซึ่ง ธปท.แจ้งว่าวันแรกมีธนาคาร 8 แห่ง ยื่นข้อมูลขอสินเชื่อซอฟต์โลนวงเงินรวม 22,788 ล้านบาท จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 16,326 ราย

โดยสินเชื่อกระจายตัวในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งการผลิต, พาณิชย์, บริการ และก่อสร้าง-อสังหาฯ ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 20 ล้านบาทสัดส่วน 76% หรือ 12,403 ราย โดยสถาบันการเงินที่ยื่นขอกู้ซอฟต์โลนมากที่สุด คือ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

แบงก์ชิงซอฟต์โลน 5 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากวงการเงินเปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ระดมทีมให้พนักงานติดต่อสอบกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ถึงความต้องการสินเชื่อซอฟต์โลนดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด คือ มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท และไม่ได้เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อรวบรวมข้อมูลและเร่งดำเนินการยื่นขอสินเชื่อจาก ธปท. ซึ่งถือเป็นการเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง เพราะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และยังมีเงื่อนไขพิเศษไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งช่วยประคองให้ลูกหนี้เดินต่อไปได้ ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย

นอกจากนี้ การปล่อยกู้ซอฟต์โลนก้อนนี้ ธนาคารยังรับความเสี่ยงต่ำ เพราะรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะช่วยรับภาระหนี้เสียในสัดส่วน 60-70% ของหนี้เสียที่เกิดขึ้น หลังครบโครงการ 2 ปี ดังนั้น ธนาคารทุกแห่งจึงขานรับและเร่งแข่งปล่อยกู้อย่างมาก ลูกค้าเอสเอ็มอีหลายรายได้รับการติดต่อและเร่งให้แจ้งความต้องการ

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท.พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 4.02 ล้านล้านบาทซึ่งคำนวณจากที่ ธปท.กำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้กู้ได้ไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้าง คร่าว ๆ เท่ากับว่าจะมีผู้มีสิทธิ์ขอสินเชื่อซอฟต์โลนก้อนนี้ราว 8 แสนล้านบาท ขณะที่ ธปท. มีวงเงินอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท หมายความว่าอาจมีความต้องการมากกว่าวงเงินที่ ธปท. จัดสรรไว้ ดังนั้นแต่ละธนาคารก็จะต้องเร่งทำเอกสารยื่นขอสินเชื่อก่อนที่จะเต็มวงเงิน

กสิกรฯ เร่งจัดพอร์ตลูกหนี้

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารได้จัดทีมเพื่อดูแลการปล่อยซอฟต์โลนของ ธปท. เพื่อช่วยเหลือลูกค้าอย่างรวดเร็ว โดยสามารถจัดพอร์ตแบ่งลูกค้าได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับวงเงินสินเชื่อ

2.กลุ่มที่มีปัญหาหลักประกันไม่เพียงพอ ต้องขอหลักประกันเพิ่ม

3.กลุ่มที่ไม่เข้าข่ายได้รับซอฟต์โลน โดยติดเงื่อนไข เช่น มียอดสินเชื่อคงค้างเกินจำนวนที่กำหนด 500 ล้านบาท หรือเป็นเอ็นพีแอลก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2562 เป็นต้น

โดยธนาคารเตรียมช่องทาง 2 ช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกการปล่อยกู้ซอฟต์โลน ทั้งให้พนักงานลูกค้าสัมพันธ์ (RM) ติดต่อไปยังลูกค้าโดยตรง และเปิดให้ลูกค้าสามารถเช็กสิทธิ์การใช้วงเงินซอฟต์โลนได้ในเว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างเช็กเอกสาร คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสรุปตัวเลขและส่งข้อมูลไปยัง ธปท.ได้

“ตอนนี้แบงก์ดึงทีมงานทุกสายงานมาช่วยตรวจเช็กลูกค้า เพื่อไม่ให้ตกหล่น หรือกระจุกตัวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตอนนี้ก็มีลูกค้าทยอยแจ้งความจำนงเข้ามาพอสมควร เหลือการตรวจเช็กเงื่อนไข” นายสุรัตน์กล่าวและว่า

นอกจากนี้ ธนาคารอาจต้องปรับนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้ผ่อนปรนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าอาจมีรายได้ไม่เท่าเดิม จึงต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน รวมถึงจัดกลุ่มการทำงานให้กระจายสินเชื่อไปยังทุกกลุ่มลูกค้า ไม่ให้กระจุกตัว ตลอดจนมีระบบมอนิเตอร์ว่าการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน หรือการติดต่อของลูกค้า มีปัญหาติดขัดตรงไหน

SCB ตั้งทีมพิเศษปล่อยกู้

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่าในส่วนของไทยพาณิชย์ มีตั้งคณะทำงานที่รับผิดชอบการปล่อยซอฟต์โลนให้ลูกหนี้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ เพื่อพิจารณากลุ่มลูกหนี้ตามเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนด สำหรับมาตรการปล่อยกู้ซอฟต์โลนของ ธปท.ครั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีน่าจะทยอยเข้าร่วมโครงการ และการให้สินเชื่อซอฟต์โลนนี้เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ซึ่งธนาคารจะดูความสามารถในการชำระหนี้ประกอบการพิจารณา

ด้านนายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทีเอ็มบี กล่าวว่า ธนาคารไม่ได้จัดตั้งทีมงานขึ้นมาพิเศษเพื่อดูแลการปล่อยกู้ซอฟต์โลน แต่ได้กำชับให้พนักงานที่ดูแลลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งโดยปกติจะมีการแบ่งการดูแลตามบัญชีลูกค้า โดยให้ทีมงานติดต่อลูกค้าที่ตัวเองรับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบข้อมูลและสอบถามถึงความจำนงการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. ให้กระจายวงเงินไปยังกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะลูกค้ารายเล็ก และไม่กระจุกตัวเฉพาะพื้นที่ กทม.

อย่างไรก็ดี ภายในสัปดาห์หน้า ธนาคารจะมีรายละเอียดของมาตรการออกมาเพิ่มเติมในภาพที่ชัดเจนขึ้น จากก่อนหน้านี้ ธนาคารทีเอ็มบี-ธนชาตได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผ่านโปรแกรม “ตั้งหลัก” ถือเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงมีมาตรการซอฟต์โลนของ ธปท.รวมอยู่ในโปรแกรมแล้ว

ทุกธนาคารเร่งมือติดต่อลูกค้า

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. โดยการพิจารณาความเสี่ยงและความสามารถของลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้น วงเงินสินเชื่อจะปล่อยได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นกับความเสี่ยงของลูกค้า เนื่องจากยังมีเรื่องของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอยู่

ขณะที่นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการติดต่อ “กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี” ที่มีแนวโน้มความต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม ซึ่งโครงการซอฟต์โลนดอกเบี้ย 2% ของ ธปท. ภาครัฐได้เข้ามาช่วยรับความเสียหาย 60-70% ตามสัดส่วนวงเงิน และยังมีโครงการพักเงินต้นและดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรกถือว่าเป็นมาตรการที่เข้ามาช่วยเหลือลูกค้าค่อนข้างมาก เชื่อว่าแต่ละธนาคารก็กำลังเร่งมือติดต่อลูกค้าเช่นกัน “การปล่อยสินเชื่อต้องเป็นไปตามกติกาอยู่แล้ว หากลูกค้ามีความต้องการและผ่านคุณสมบัติ เพราะเราต้องการช่วยเหลือลูกค้า”

ทั้งนี้ สินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 4.02 ล้านล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทยมีพอร์ตเอสเอ็มอีมากสุด ประมาณ 6.72 แสนล้านบาท ตามด้วยแบงก์ไทยพาณิชย์ 3.40 แสนล้านบาท และแบงก์กรุงเทพ 3.32 แสนล้านบาท