แรงซื้อ “SSF” เดือนแรกแผ่ว หวั่นไม่พอพยุงตลาดหุ้น

ส่องการลงทุนกองทุน “SSF-SSFX” ช่วง 1 เดือนแรกไม่ปัง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมยังแค่กว่า 1.4 พันล้านบาท “3 บิ๊ก บลจ.” ฮอตสุด “บัวหลวง-กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์” นายกสมาคม บลจ.ชี้ 2 ปัจจัยกดดันการลงทุน ฟากนักวิเคราะห์ “บล.เอเซีย พลัส” ประเมินเม็ดเงิน 2 กองทุนยังแผ่ว-ไม่เพียงพอพยุงตลาดหุ้น

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเริ่มมีการเสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ล่าสุด ณ 28 เม.ย. 63 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) รวมของ SSF อยู่ที่ 29.6 ล้านบาท และ SSFX อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ 15 เม.ย.ถึงปัจจุบัน ภาพรวมทั้ง SSF และ SSFX มีเงินเข้าสุทธิโดยเฉลี่ยวันละเกือบ 50 ล้านบาท ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง มีเงินไหลเข้าสูงสุดราว 350 ล้านบาท (มีแต่ SSF) รองลงมา บลจ.กสิกรไทย เกือบ 340 ล้านบาท และ บลจ.ไทยพาณิชย์กว่า 270 ล้านบาท

“ตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้วในเดือน เม.ย.นี้ โดยผลตอบแทนรวมของดัชนี (SET TR) อยู่ที่ 14.3% ณ 28 เม.ย. ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนใน SSFX บ้าง อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็อาจส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในระยะยาวได้เช่นกัน” นางสาวชญานีกล่าว

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า นักลงทุนทยอยเข้าลงทุน SSF และ SSFX อย่างต่อเนื่อง โดยทั้งอุตสาหกรรมมีจำนวนนักลงทุนรวมประมาณ 26,000 ราย ถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้ ซึ่งสำหรับ บลจ.กสิกรไทยถือว่านักลงทุนให้การตอบรับดีเช่นกัน หลังจากเสนอขายไป ช่วง 1-10 เม.ย. พบว่า ระดมทุนได้ประมาณ 250 ล้านบาท และเมื่อ 15 เม.ย. ได้เปิดขาย SSFX เพิ่มเติม ซึ่ง NAV เพิ่มขึ้น 30-40% มาอยู่ที่ 350-360 ล้านบาท ในช่วง 2 สัปดาห์

“ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร ในสถานการณ์ที่ช่องทางการซื้อจำกัด ทั้งจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารที่ลดลงในภาวะโควิด-19 ระบาด”

ขณะที่แนวโน้มอีก 2 เดือนต่อจากนี้ โดยเฉพาะ SSFX ที่จะเสนอขายถึง 30 มิ.ย. 63 คาดว่ากระแสเงินลงทุนจะค่อย ๆ ทยอยเข้ามา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการลงทุนของผู้ลงทุน รวมถึงความผันผวนในตลาดหุ้นไทย ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดัน ทั้งนี้ คาดว่านักลงทุนน่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ในช่วงก่อนปิดการขายกองทุน SSFX เหมือนกับกองทุนรวมระยะยาว (LTF) ที่มักจะมีเม็ดเงินลงทุนค่อนข้างสูงในวันสุดท้ายของปี

นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า เนื่องจากระยะเวลาการประชาสัมพันธ์ก่อนเสนอขายกองทุน SSF ที่จำกัด รวมถึงภาวะปัจจุบันที่ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน (work from home) และมีการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) รวมถึงการปิดห้างสรรพสินค้าและการปิดธนาคารในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกดดันช่องทางการขายกองทุนรวม ทำให้นักลงทุนตอบรับไม่ค่อยดีนัก โดยตั้งแต่วันแรกที่เสนอขายถึงปัจจุบัน กองทุน SSF ของ บลจ.ทิสโก้มี NAV ประมาณ 20 ล้านบาท และจำนวนผู้ลงทุนหลักร้อยราย


นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เดิมฝ่ายวิจัยประเมินว่าแรงซื้อของ SSF จะสามารถช่วยประคองดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ดี อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ณ วันที่ 24 เม.ย. 63 พบว่าแรงซื้อ SSFX กลับค่อนข้างแผ่ว หรือมีเม็ดเงินไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ดังนั้น SET index ที่ปรับขึ้นจากเดือนที่แล้วประมาณ 10% โอกาสที่เม็ดเงินจะเข้ามาหนุนดัชนีต่อจากนี้จะค่อนข้างลำบาก