ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังทรัมป์ขู่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/5) ที่ระดับ 32.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (30/4) ที่ระดับ 32.47/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ บาทปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (30/4) และแข็งค่าขึ้นมาตอนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/5) โดยที่บาทอ่อนค่าในระหว่างวันหยุดยาวที่ผ่านมาเพราะปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่เพื่อตอบโต้กรณีที่กล่าวหาจีนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตามหลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ทางด้าน รมว.ต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าไวรัสโควิด-19 เกิดจากห้องแล็บในจีน ซึ่งความเห็นดังกล่าวได้เพิ่มความวิตกเกี่ยวกับการที่สหรัฐขู่ตอบโต้จีนกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 10.3% ในเดือน มี.ค. จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งปรับตัวลดลงในอัตราที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คำสั่งซื้อภาคโรงงานที่ร่วงลงอย่างหนักนี้ เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการส่งออก

ทางด้านปัจจัยในประเทศสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ 99.75 ลดลง -2.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -2.03% จากเดือน มี.ค. 63 ผู้อำนวยการ สนค.เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน เม.ย. 63 หดตัวแรงสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.34-35.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดั 32.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/5) ที่ระดับ 1.0907/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/5) ที่ระดับ 1.0898/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แม้ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 33.4 ในเดือน เม.ย. ลดลงจากระดับเบื้องต้นที่ 33.6 และยังลดลงจากระดับ 44.5 ในเดือน มี.ค. ดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัว โดยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้การผลิต คำสั่งซื้อใหม่ ยอดขายเพื่อส่งออก และกิจกรรมการซื้อ ปรับตัวลดลงอย่างหนัก

นอกจากนี้ผู้พิพากษาชั้นนำของเยอรมนีอนุมัติวงเงินการซื้อสินทรัพย์ 2.7 ล้านล้านยูโร (2.95 ล้านล้านดอลลาร์) ให้ธนาคารกลางยุโรปเป็นเวลาสามเดือนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้พิพากษากล่าวว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณบางส่วนไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โปรแกรมการซื้อสินทรัพย์ที่มีการโต้เถียงของ ECB เป็นข้อกังวลสำหรับศาลเยอรมนีตั้งแต่อย่างน้อยปี 2558 เมื่อคดีถูกยื่น ในปี 2560 ผู้พิพากษาขอให้ศาลยุติธรรมแห่งยุโรปพิจารณาคดีชั่วคราว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดขอบเขตการดำเนินงานของ ECB แต่ศาลสหภาพยุโรปปฏิเสธการอ่านกฎหมายที่เสนอโดยคู่ค้าชาวเยอรมนีอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.10824-.0925 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0827/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/5) ที่ระดับ 106.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/5) ที่ระดับ 106.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นเตรียมประกาศนโยบายเกี่ยวกับการฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในหลายพื้นที่ โดยจะมีการตัดสินใจเรื่องการต่อเวลาภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศในสัปดาห์หน้าด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.50-106.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.82/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางออสเตรเลียประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (5/5) ยอดนำเข้า ส่งออก และดุลการค้าเดือน มี.ค. ของสหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย. จากมาร์กิต ดัชนีภาคบริการเดือน เม.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (5/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย. จากมาร์กิต ของฝรั่งเศส เยอรมนี และอียู (6/5) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน เม.ย. จาก ADP ของสหรัฐ (6/5) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุม (7/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน เม.ย.จากไฉซินของจีน (7/5) ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตรา (7/5) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (7/5) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย.ของสหรัฐ (8/5)

สำหรับอัตรป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.1/+0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.0/+0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ