ไวรัสทุบเบิกจ่ายรัฐต่ำเป้า งบฯ ลงทุน 6 กระทรวง ครึ่งปีแรกอืด

หลังจากงบประมาณปี 2563 ต้องล่าช้ามามากกว่า 1 ไตรมาส โดยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 จากนั้นเมื่องบประมาณเบิกจ่ายได้ปกติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายทันที โดยตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายให้ได้ 100% ขีดเส้นให้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. และให้ส่งมอบงานให้เร็วขึ้น เพื่อให้การเบิกจ่ายงบฯทุกรายการ/โครงการให้ทันภายในเดือน ก.ย. 2563

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างขึ้น รวมถึงกระทบเบิกจ่ายงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณรายงาน การเบิกจ่ายครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2563 (1 ต.ค. 2562-31 มี.ค. 2563) ให้ ครม.รับทราบ พบว่า งบฯรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้วกว่า 1.23 ล้านล้านบาท หรือ 38.53% และก่อหนี้แล้วกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หรือ 40.84%

ภาพรวมเบิกจ่ายต่ำเป้า

เมื่อดูตัวเลขการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย กรณีไม่รวมงบฯกลาง วงเงินทั้งสิ้นกว่า 2.61 ล้านล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายกว่า 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 45% ปรากฏว่าเบิกจ่ายไปได้ 9.43 แสนล้านบาท หรือ 36.05% “ต่ำกว่าเป้า” ไป 17.75% ส่วนการก่อหนี้ทำได้แล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือ 38.76%  “ต่ำกว่าเป้า” ไป 15.22%

ทั้งนี้ หน่วยงานระดับกระทรวง พบว่า ส่วนใหญ่เบิกจ่ายและก่อหนี้ได้ “ต่ำกว่าเป้า” อาทิ กระทรวงคมนาคม เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 40.55% ก่อหนี้ต่ำกว่าเป้า 28.24%, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 33.90% ก่อหนี้ต่ำกว่าเป้า 26.81%, กระทรวงมหาดไทย เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 33.46% ก่อหนี้ต่ำกว่าเป้า 16.03%, กระทรวงวัฒนธรรม เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 31.44% ก่อหนี้ต่ำกว่าเป้า 26.38%, กระทรวงพลังงาน เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 30.43% ก่อหนี้ต่ำกว่าเป้า 20.23%, กระทรวงยุติธรรม เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 29.96% ก่อหนี้ต่ำกว่าเป้า 21.70%, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 26.98% ก่อหนี้ต่ำกว่าเป้า 22.16%, สำนักนายกรัฐมนตรี เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 26.59% ก่อหนี้ต่ำกว่าเป้า 25.11% เป็นต้น

งบฯ ลงทุน 5 แสนล้านเบิกอืด

เมื่อจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ (ไม่รวมงบฯกลาง) ที่มีวงเงินทั้งสิ้น 2.04 ล้านล้านบาท พบว่า ผลการเบิกจ่ายทำได้ 8.78 แสนล้านบาท คิดเป็น 42.99% “ต่ำกว่าเป้า” ไป 15.01% และมีการก่อหนี้แล้ว 8.93 แสนล้านบาท คิดเป็น 43.71% “ต่ำกว่าเป้า” ไป 14.29%

ส่วนรายจ่ายลงทุนกว่า 5.74 แสนล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายกว่า 6.54 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 11.38% “ต่ำกว่าเป้า” ไป 28.62% และมีการก่อหนี้แล้ว 1.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 21.24% “ต่ำกว่าเป้า” ไป 18.76% ซึ่งพบว่า หลายกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบฯลงทุนเกินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ยังเบิกจ่าย “ต่ำกว่าเป้า” กันค่อนข้างมาก

“งบฯ ช้า-โควิด” ทุบเบิกต่ำ

เป้าแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณได้รายงานข้อเท็จจริงปัญหาและอุปสรรคที่เป็นสาเหตุให้การใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวม ยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายตามมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณที่กำหนดไว้ อาทิ งบฯบังคับใช้ล่าช้า จึงกระทบการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่าย, สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ อย่างไรก็ดี สำนักงบฯได้เสนอให้คงเป้าหมายการเบิกจ่ายงบฯไว้ตามเดิม แม้ว่าล่าสุดจะมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. … ออกมาก็ตาม

“เนื่องจากมีการโอนงบประมาณไปเป็นงบฯ กลาง ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบโควิด-19 ภัยแล้ง และอุทกภัย ประกอบกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ผ่อนปรนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่จะทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้น จึงให้คงเป้าหมายเบิกจ่ายเดิมไว้ โดยหักงบประมาณที่จะโอนออกไป นอกจากนี้ ยังเร่งรัดการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2563 ส่วนหน่วยงานที่การเบิกจ่ายได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องปรับลดแผน ก็ต้องทำเรื่องเสนอมาให้สำนักงบฯ พิจารณา”

มี.ค.เครื่องยนต์ภาครัฐเริ่มติด

“ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน มี.ค. และไตรมาสแรกปี 2563 นี้ ตัวเลขต่าง ๆ “หดตัวลงลึก” ในทุกหมวด จากผลกระทบ “โควิด-19” อย่างไรก็ดี ในเดือน มี.ค. การใช้จ่ายภาครัฐ นับเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจเพียงตัวเดียวที่ขยายตัวได้ หลังจากช่วง 5 เดือน ก่อนหน้านี้ติดลบมาตลอด เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

“ภาครัฐพยายามเร่งเบิกจ่าย ทำให้ตัวเลขงบฯรายจ่ายประจำขยายตัว 13.9% และงบฯรายจ่ายเพื่อการลงทุนขยายตัว 12.2% ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ”

ขณะที่ล่าสุด ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ ที่ยังล่าช้าอยู่มาก เพื่อให้เบิกจ่ายได้ทันสิ้นปีงบประมาณ 2563 หรือภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2563

ทั้งนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบ แต่หากเครื่องยนต์การเบิกจ่ายภาครัฐเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย อย่างน้อยก็น่าจะยังพอช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไปได้บ้าง ระหว่างที่่รอ
สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย