‘คลัง’ ชงไฟเขียว 2 โครงการ ค้ำสินเชื่อเอสเอ็มอี 2.5 แสนล้านบาท

อุตตม สาวนายน

คลังจ่อชง ครม.ไฟเขียว บสย.ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่ม 2 โครงการ วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท เผย “PGS9” วงเงิน 2 แสนล้านบาท การันตีหนี้เสีย 30% ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ถึง 3 ปี ขณะที่ “micro entrepreneur เฟส 4” ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี ขยับวงเงินค้ำต่อรายตั้งแต่ 2 แสนบาทขึ้นไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้สั่งการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และขนาดย่อย (ไมโคร) ที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในภาวะที่การดำเนินธุรกิจกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมา บสย.ได้เสนอรายละเอียด PGS9 มาให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว วงเงินรวม 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการชดเชยความเสียหายจากการเกิดหนี้เสียที่ 30% แนวทางเดียวกับ PGS8 แต่จะเพิ่มเติมเรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันช่วง 3 ปีแรก จากเดิมแค่ 2 ปี

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซึ่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า สถาบันการเงินมีการใช้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อกันเพิ่มมากขึ้น โดยยอดค้ำประกันเพิ่มขึ้นถึง 300-400% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 เนื่องจากภาวะเช่นนี้ การใช้ บสย.ค้ำประกัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงให้กับแบงก์ได้มาก

“ตอนนี้ PGS8 ที่ออกมาเมื่อปีที่ผ่านมา มีการค้ำประกันไปแล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท เหลือแค่ 3 หมื่นล้านบาท จากวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท โดยช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 ที่มีความต้องการสูงมาก โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.ที่มียอดขอค้ำประกันสูงถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ยอดค้ำเฉลี่ยอยู่แค่ราว 6,000 บาทต่อเดือน จึงส่งผลให้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อใกล้จะหมด ซึ่ง รมว.คลัง ได้ให้ บสย.เร่งเสนอ PGS9 มาดำเนินการต่อเนื่อง เพราะทุกแบงก์ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้า บสย.ไม่เข้ามารับความเสี่ยง เขาก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ในภาวะเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบันนี้” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ บสย.ยังได้เสนอจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย (micro entrepreneur) ระยะที่ 4 ให้กระทรวงการคลังพิจารณาด้วย ในวงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี และกำหนดวงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาทขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นคนตัวเล็กได้อย่างครอบคลุมขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียด จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อจัดสรรงบประมาณชดเชยให้กับ บสย.บางส่วน ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในเดือน พ.ค.นี้

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น จะไม่สามารถใช้ บสย.เข้าไปค้ำประกันให้เพิ่มเติมได้ เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน และถือว่า ธปท.ได้ให้ความช่วยเหลือเพียงพอแล้ว

“บสย.จะเข้าไปหนุนเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ทั้งลูกค้าทั่วไป ลูกค้าที่ประสบปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และเป็นกลุ่ม unserved SMEs หรือกลุ่มอ่อนแอ ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ และยังต้องพึ่งพาการกู้หนี้นอกระบบ โดย บสย.จะช่วยดูแลกลุ่มนี้ได้ราว 47% ของเอสเอ็มอีทั้งระบบราว 3 ล้านราย” แหล่งข่าวกล่าว