คลังจัดซอฟต์โลนอุ้มแอร์ไลน์ ดึง “เอ็กซิมแบงก์” ปล่อยกู้ 2 หมื่นล้าน

คลังเล็งกันซอฟต์โลนออมสิน 2 หมื่นล้านบาทอุ้ม 8 สายการบิน ดึง “เอ็กซิมแบงก์” เป็นตัวกลางปล่อยกู้ ระบุน็อนแบงก์มีความต้องการใช้เงินดอกเบี้ยต่ำไม่ถึง 8 หมื่นล้านบาท เหตุ “ลีสซิ่ง” บริษัทลูกต่างชาติไม่ใช้ซอฟต์โลน ส่วนซอฟต์โลนแบงก์ชาติ 5 แสนล้าน ล่าสุด เพิ่งใช้วงเงินแค่ 3.6 หมื่นล้านบาท จี้ทุกสถาบันการเงินเร่งช่วยเอสเอ็มอี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้มีการพิจารณากันว่า อาจจะใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่มีเหลือราว 2 หมื่นล้านบาท จากซอฟต์โลนก้อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ช่วยเหลือกลุ่มน็อนแบงก์ 8 หมื่นล้านบาท มาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจสายการบินทั้ง 8 บริษัท เนื่องจากล่าสุด พบว่าน็อนแบงก์มีความต้องการใช้ซอฟต์โลนไม่ถึง 8 หมื่นล้านบาท เพราะบางส่วนมีบริษัทแม่เป็นบริษัทต่างชาติ เช่น ลีสซิ่งของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งน็อนแบงก์กลุ่มดังกล่าวจะไม่มาใช้วงเงินซอฟต์โลนของออมสิน

“ตอนนี้ซอฟต์โลนที่ปล่อยให้น็อนแบงก์ จะมีวงเงินเหลือราว 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงพิจารณากันอยู่ว่า จะนำวงเงินดังกล่าวไปช่วยกลุ่มสายการบิน โดยปล่อยผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อย่างไรก็ดี ยังติดปัญหาที่ว่า ในจำนวน 8 สายการบินที่ขอใช้ซอฟต์โลน กว่าครึ่งมีผลประกอบการขาดทุนมาก่อน ทำให้พิจารณาปล่อยกู้ได้ลำบาก ซึ่งอาจจะต้องดูแผนฟื้นธุรกิจระยะยาวประกอบ” แหล่งข่าวกล่าว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ ครม.มีมติให้ธนาคารออมสินดำเนินการปล่อยกู้ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้จัดสรรใกล้เต็มวงเงินแล้ว โดยนอกเหนือจากวงเงินที่ออมสินปล่อยกู้ช่วยลูกค้าเอง 1.5 หมื่นล้านบาทแล้ว ในส่วนของวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ก็ได้จัดสรรให้แก่ธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว ขณะที่วงเงินอีก 8 หมื่นล้านบาทที่ ครม.มีมติให้จัดสรรแก่สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) นั้น คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะมีการอนุมัติราว 2 หมื่นล้านบาทให้แก่น็อนแบงก์เป็นก้อนแรก

อย่างไรก็ดี ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างพิจารณาว่า ภายใต้วงเงิน 8 หมื่นล้านบาทดังกล่าว หากความจำเป็นต้องใช้เงินของน็อนแบงก์ต่ำกว่านี้ ก็จะกันวงเงินไปให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องการซอฟต์โลนเพิ่มเติม ส่วนการดูแลผู้ประกอบการสายการบินนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเข้าไปดูแล เนื่องจากกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างพิจารณา ว่าจะใช้วิธีการช่วยเหลือแบบใด ซึ่งอาจจะเป็นการออกวงเงินสินเชื่อใหม่ หรืออาจจะขอใช้วงเงินเดิมที่มีอยู่ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวต้องรอข้อสรุปจากทางกระทรวงการคลังก่อน

“ตอนนี้ก็มีน็อนแบงก์บางแห่งแจ้งมาว่า ไม่มีความประสงค์จะขอใช้วงเงิน อย่างไรก็ดี ก็ต้องพิจารณาว่า น็อนแบงก์จะทยอยมาขอใช้ซอฟต์โลนก้อนดังกล่าวจำนวนเท่าไหร่ ส่วนการช่วยเหลือสายการบิน ต้องรอข้อสรุปจากกระทรวงการคลัง ตอนนี้ยังไม่ได้มีการใช้วงเงินตรงนี้” นายชาติชายกล่าว

นายชาติชายกล่าวด้วยว่า สำหรับเงื่อนไขการขอใช้ซอฟต์โลนของน็อนแบงก์นั้น ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น็อนแบงก์จะต้องมีมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และต้องมีลูกค้าเข้าโครงการไม่น้อยกว่าที่จะมาขอเบิกซอฟต์โลน จึงจะสามารถทยอยขอเบิกเงินใช้ได้ เช่น หากน็อนแบงก์ช่วยลูกค้าในวงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ก็จะได้รับการจัดสรรซอฟต์โลน 10% หรือ 1,000 ล้านบาท

“น็อนแบงก์จะต้องมีการพักดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับลูกค้า โดยที่ลูกค้าต้องทยอยเข้าโครงการก่อน จึงจะมาเบิกเงินซอฟต์โลนตามวงเงินของลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ สูงสุดไม่เกิน 10%” นายชาติชายกล่าว

ขณะที่ในส่วนซอฟต์โลนของ ธปท. 5 แสนล้านบาท ล่าสุด นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า หลัง ธปท.เปิดรับคำขอซอฟต์โลนมา 2 สัปดาห์ มีการใช้วงเงินแล้ว 3.6 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 2.2 หมื่นราย มูลค่าสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ โดย 74% เป็น SMEs ขนาดเล็กในต่างจังหวัด โดยสถาบันการเงินที่ยื่นคำขอเข้ามามากที่สุด คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์