ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเฟดปฏิเสธนโยบายดอกเบี้ยติดลบ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/5) ที่ระดับ 32.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (11/5) ที่ระดับ 32.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้รับแรงหนุนหลังจากที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกบี้ยของสหรัฐในอนาคต โดยนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนติดลบ เขากล่าวว่าควรจะต้องมีการศึกษาประสิทธิผลและผลกระทบอื่น ๆ จากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบก่อน สอดคล้องกับท่าทีของนายเจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐ ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าทางคณะกรรมการได้พิจารณาทางเลือกการดำเนินนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือต่าง ๆ แล้ว และเลือกที่จะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงติดลบในขณะนี้

อย่างไรก็ตามทางสหรัฐยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งกับประเทศจีนต่อไป ถึงแม้ว่าทางด้านผู้แทนการค้าสหรัฐ และจีนพึ่งจะได้หารือกันทางโทรศัพท์เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเฟสแรก และจีนระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะปรับปรุงบรรยากาศเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว แต่เมื่อคืนที่ผ่านมาทางนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาการค้าประจำทำเนียบขาว กล่าวว่าสหรัฐควรตอบโต้จีนกรณีที่จีนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสร้างความเสียหายไปทั้งโลก และควรมีการเรียกร้องความเสียหายจากจีนจากผลกระทบดังกล่าว เขาระบุว่าจีนสร้างความเสียหายต่อโลก และความเสียหายนี้ก็ยังดำเนินอยู่ ซึ่งขณะนี้เราได้ใช้จ่ายเงินเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต่อสู้กับไวรัสดังกล่าว

สำหรับปัจจัยในประเทศค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นในช่วงระหว่างวัน ขณะที่ทางทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (สบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 2 ราย ผู้ป่วยสะสมรวม 3,017 ราย ไม่มีผู้เสียชีิวตเพิ่ม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในการรับมือสถานการณ์ไวรัสภายในประเทศของไทย

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในเดือนเมษายน เนื่องจากราคาอาหารปรับตัวลดลง ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศกำลังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกนั้น ทำให้จีนมีความกดดันที่จะเผชิญภาวะเงินฝืด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.11-32.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/5) ที่ระดับ 1.0792/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/5) ที่ระดับ 1.0822/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากแถลงการณ์จากเจ้าหน้าที่เฟดคลายความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยติดลบของสหรัฐ โดยทางภูมิภาคยุโรปไม่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังจากที่ ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีออกมาเตือนถึงการว่างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไปจนถึงอุตสาหกรรมบริการ

อย่างไรก็ตาม ทางยุโรปเองก็มีข่าวดีออกมาเล็กน้อย หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขสเปนรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่จากไวรัสอยู่ที่ระดับ 123 รายในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0793-1.0823 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0817/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/3) ที่ระดับ 107.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/15) ที่ระดับ 107.2/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระหว่างวันนายฮานุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อจัดการกับผลกระทบที่มากขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า พร้อมเตือนว่า การดิ่งลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงเกิดขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.38-107.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.53/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเมษายนของสหรัฐ (12/5) ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมีนาคมของญี่ปุ่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมของสหภาพยุโรป ดัชนีราคาผู้ลิต (PPI) เดือนเมษายนของสหรัฐ (13/5) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเมษายนของเยอรมนี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/5) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเมษายนของญี่ปุ่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ของสหภาพยุโรป ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของสหรัฐ (15/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.45/-0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.25/+0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ