ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า หลังดัชนีราคาผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/5) ที่ระดับ 32.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/5) ที่ระดับ 32.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมากระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนเมษายน ปรับตัวลดลง 0.8% ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.7% โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนเมษายนดังกล่าว ถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนมีนาคม

พร้อมทั้ง นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ได้ระบุในการกล่าวสุนทรพจน์ในวันอังคารที่ผ่านมาว่า ธุรกิจต่าง ๆ ของสหรัฐจะประสบกับภาวะล้มละลายครั้งใหญ่ และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากการชัตดาวน์เศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป

ทางด้านนายนีล แคชคารี ประธานเฟด สาขามินนีอาโปลีส ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากผลกระทบของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะที่นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟด สาขาดัลลัส กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะต้องได้รับการกระตุ้นด้านการคลังมากขึ้น หากอัตราการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ประธานเฟดทั้ง 3 คนดังกล่าว ได้แสดงความคิดเห็นที่คล้ายกันว่า เฟดไม่มีแนวโน้มที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นเครื่องมือในการจัดการกับภาวะเศรษฐกิจในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่นายบูลลาร์ดระบุว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะใช้การซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการจัดการกับภาวะเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตารอดูการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้เวลาประมาณ 20.00 น.ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์คาดว่า นายพาวเวลจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งการดำเนินนโยบายของเฟด และคาดว่านายพาวเวลจะไม่กล่าวสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับติดลบ แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความเมื่อวานนี้ว่า สหรัฐจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยติดลบก็ตาม

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแข็งค่า หลังจากได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ในไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจากรายงานประจำวันพุธ (13/5) พบว่าประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยระหว่าง 32.05-32.11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.01/03 บาท/ดอลลาร์

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (13/5) ที่ระดับ 1.0851/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/5) ที่ระดับ 1.0819/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการปรับตัวอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มยูโรโซนประจำเดือนมีนาคมที่ออกมาปรับตัวลดลง 11.3% ซึ่งปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงระดับ 12.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0831-1.0859 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0835/39

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/5) ที่ระดับ 107.19/20 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/5) ที่ระดับ 107.48/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยยอดดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือนมีนาคมอยู่ที่เกินดุล 1.97 ล้านล้านเยน (1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นการทำสถิติเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 69 และรายงานเบื้องต้นของกระทรวงการคลังระบุว่า ยอดเกินดุลการค้าสินค้าที่ 1.031 แสนล้านเยนในเดือนมีนาคม ขณะที่ยอดเกินดุลการค้าด้านการบริการอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านเยน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.96107.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.02/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ, คำกล่าวสุนทรพจน์ของนายพาวเวลล์ (Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (13/5), ตัวเลขการจ้างงานของออสเตรเลีย, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนี, ตัวเลขจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (14/5), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Prelim GDP) ของกลุ่มประเทศยุโรป, ดัชนียอดขายปลีกของสหรัฐ และตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ (15/5)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.6/+0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.22/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ%