ดอลลาร์อ่อนค่า เฟดส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญความเสี่ยงขาลง

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังประธานเฟด ส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญความเสี่ยงขาลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/5) ที่ระดับ 32.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (13/5) ที่ระดับ 32.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้อ่อนค่าลงเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงในช่วงขาลง นายพาวเวลยังระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะขึ้นอยู่กับคำถามมากมายเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 เช่น จะใช้เวลานานเท่าใดก่อนที่จะมียารักษา และการยกเลิกมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่หรือไม่ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะกลับมาเมื่อใด

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังระบุว่าไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่แตกต่างจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐเคยเผชิญในอดีต และสภาคองเกรสควรจะมีบทบาทมากขึ้นในการรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวมากกว่าเฟด ด้วยการใช้มาตรการทางภาษี และการใช้จ่ายของรัฐ ขณะเดียวกัน แม้เฟดใช้เครื่องมือด้านนโยบายจนหมดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่เครื่องมือหนึ่งที่เฟดจะไม่เข้าไปแตะคือการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือน เม.ย.ดิ่งลง 1.3% เมื่อเทียบรายเดือนหลังจากลดลง 0.2% ในเดือน มี.ค. การดิ่งลงของดัชนี PPI ในเดือน เม.ย.ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสหรัฐจะเผชิญภาวะเงินฝืดในช่วงสั้น ๆ ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบอุปสงค์เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ร่วงลง 1.2% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน มี.ค. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PPI จะปรับตัวลง 0.5% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และลดลง 0.2% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.07-32.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (14/5) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0815/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/5) ที่ระดับ 1.0840/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังธนาคารกลางฝรั่งเศส (BdF) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสทรุดตัวลงแตะระดับ 27% ในเดือน เม.ย. แต่ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าสถิติเดือน มี.ค. BdF ระบุในแถลงการณ์ว่า “ผลการสำรวจภาคธุรกิจประจำเดือนได้แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงมีการหดตัวอย่างมีนัยสำคัญในเดือน เม.ย. แต่ทรุดตัวน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ยกเว้นธุรกิจบางประเภท เช่น การบริการภาคครัวเรือน” จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารธุรกิจ 8,500 คน ในช่วงวันที่ 28 เม.ย.-6 พ.ค. พบว่า การดำเนินการทางเศรษฐกิจในประเทศเดือน เม.ย. อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ 27% หลังจากที่ร่วงลง 32% ในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0795-1.0823 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0809/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (14/5) เปิดตลาดที่ระดับ 106.89/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/5) ที่ระดับ 107.06/07 เยน/ดอลลาร์ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะขาลง จากการเปิดเผยของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.06-107.06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (14/5), ยอดค้าปลีกเดือน เม.ย. (15/5), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน พ.ค. จากเฟดนิวยอร์ก (15/5), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. (15/5), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (15/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.65/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.5/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ